ก้าวแรกกับการเชื่อมสมองมนุษย์กับ AI… เมื่อทีมนักวิจัยจาก Indiana University Bloomington พัฒนา Brainoware คอมพิวเตอร์ชีวภาพแบบไฮบริดที่ผสานรวมเนื้อเยื่อสมองมนุษย์เข้ากับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถทำงานต่าง ๆ อย่างการรู้จำเสียง (Voice recognition) ได้
ระบบ Brainoware ทำมาจากสเต็มเซลล์สมองจำลองเนื้อเยื่อของสมองมนุษย์ที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ วางอยู่บนแผงวงจรที่สามารถดึงข้อมูลจากเซลล์สมองและอ่านการตอบสนองของมัน ทำให้คอมพิวเตอร์ชีวภาพนี้สามารถรู้จำเสียงผู้พูด และคาดการณ์โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนได้
จากการทดลอง นักวิจัยได้นำคลิปเสียง 240 เสียงจากผู้พูดเพศชาย 8 คนที่ออกเสียงสระภาษาญี่ปุ่น และให้ Brainoware ระบุว่าเป็นเสียงของใคร ซึ่งหลังจากผ่านการฝึกสองวัน Brainoware ก็สามารถจำแนกเสียงผู้พูดด้วยความแม่นยำถึง 78 เปอร์เซ็นต์
อีกการทดลองหนึ่งคือ การให้ Brainoware คาดการณ์ Hénon map ซึ่งเป็นหลักการทางคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของระบบไดนามิกแบบแยกเวลา โดยนักวิจัยปล่อยให้ Brainoware เรียนรู้เองเป็นเวลา 4 วัน โดยให้ข้อมูลเทรนนิง 1 ชุด ในแต่ละวัน
หลังจากผ่านไป 4 วัน นักวิจัยพบว่า Brainoware สามารถคาดการณ์แผนที่ได้ด้วยความแม่นยำกว่าโครงข่ายจำลองโดยไม่ต้องใช้หน่วยความจำระยะสั้น
งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องการทำให้เนื้อเยื่อสมองไม่ตายและใช้งานได้ และหากต้องการให้ Brainoware ทำงานที่ซับซ้อนกว่านี้ ก็ต้องใช้ “สมอง” ที่ขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
ในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าวอาจสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบ AI หรือสร้างพื้นฐานโมเดลสมองเพื่อการวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ได้ รวมไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางสติปัญญาด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยดังกล่าวที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Electronics ได้ที่นี่