หลังจากที่ Generative AI ได้เป็นกระแสหลักในช่วงปีที่ผ่านมาและปีนี้ หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาและเริ่มมีความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ “LangChain”
LangChain คืออีกหนึ่งสิ่งที่ในหมู่นักพัฒนาระบบ Generative AI กำลังทยอยใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งผู้ให้บริการ Cloud ไม่ว่าจะเป็น AWS หรือ GCP ก็มีพูดถึงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน (AWS Meetup #24 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คุณ Donnie Prakoso, Principal Developer Advocate แห่ง AWS ก็ยังพูดถึงและมีใน Workshop ด้วย) อะไรคือ LangChain กันแน่ ? มาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในบทความนี้
LangChain คืออะไร ?
LangChain นั้นคือแพลตฟอร์มที่เปิดตัวขึ้นมาในช่วงตุลาคม 2022 โดยนักพัฒนาระบบ Harrison Chase ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์ก Open Source ที่สนับสนุนให้นักพัฒนาระบบสามารถพัฒนาแอปพลิเคชัน Generative AI ด้วยการเชื่อมโยงโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model หรือ LLM) ที่นิยมในตลาด เช่น Hugging Face, OpenAI, Cohere ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่น ส่งผลให้สามารถสร้างแอปพลิเคชัน Generative AI ตัวต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
โดยหลักการของ LangChain คือการประกอบกันของสองคำ ได้แก่คำว่า “Lang” ที่ย่อมาจากคำว่า “Language” คือภาษา ซึ่งหมายความถึงโมเดล LLMs กับอีกคำคือ “Chain” ที่แปลตรงตัวคือ “ห่วงโซ่” นั่นจึงทำให้ LangChain นั้นก็หมายถึงการผสมผสานขีดความสามารถของ LLMs หลาย ๆ มาเชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่ที่ทำให้เกิดแอปพลิเคชันหน้าตาใหม่ ๆ ขึ้นมาบนตลาดได้อย่างรวดเร็ว
LangChain ในฐานะสตาร์ตอัป
หลังจาก LangChain ได้เปิดตัวให้ใช้งานได้บน GitHub ก็ได้เกิดความนิยมนำไปใช้งานกันในวงกว้างอย่างมหาศาลจนกระทั่งช่วงเมษายน 2023 จึงได้จัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปและสามารถระดมทุนได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Sequoia Captial นั้นได้ประเมินมูลค่าบริษัทสูงถึง 200 ล้านเหรียญเลยทีเดียว
โดยภารกิจของ LangChain ยังคงเหมือนเดิมคือสนับสนุนให้เกิดการสร้างแอป LLMs สำหรับโลกอนาคตได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งตามข้อมูลบนเว็บไซต์ ปัจจุบัน LangChain ได้สนับสนุนองค์กรไปแล้วมากกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วโลกในการสร้างแอป Generative AI โดยตัว Repository ที่นิยมสูงสุดของ LangChain นั้นได้ถูกดาวน์โหลดสูงถึง 5 ล้านครั้งต่อเดือน และได้รับดาว (Star) สูงถึง 76.8k ดวง รวมทั้งมีการ Fork มากถึง 11.8k ครั้งแล้วด้วย
ผลิตภัณฑ์ของ LangChain
ส่วนแรกที่นักพัฒนาระบบสามารถเข้าถึงได้เลยคือส่วน Open Source ที่อยู่บน GitHub ของ langchain-ai ซึ่งนอกจากชุดเครื่องมือ LangChain ที่นักพัฒนาระบบนำไปต่อยอดสร้างแอปพลิเคชันที่ให้เหตุผลจากบริบทได้ด้วยภาษา Python ยังมี Repository อื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้ง Repository ที่เป็น LangChain.js ที่สนับสนุนภาษา JavaScript หรือ Typescript ด้วย
ตัวอย่างเครื่องมืออื่น ๆ สำหรับนักพัฒนาภายในเฟรมเวิร์ก อาทิ
- LangChain Templates ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่สามารถใช้อ้างอิงเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาได้ในหลาย ๆ งาน เช่น สร้างแชทบอท Retrieval Augmented Generation หรือการคัดแยกข้อมูล Structured Data ออกมาจาก Unstructured Data เป็นต้น
- LangServe ชุดไลบรารีสำหรับการ Deploy ชุด LangChain ให้กลายเป็น REST API
- LangSmith แพลตฟอร์มนักพัฒนาที่ทำให้สามารถ Debug, Test, Evaluate และ Monitor ห่วงโซ่ที่สร้างขึ้นจากเฟรมเวิร์ก LLM ต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ
และนอกจากส่วนของโค้ดบน GitHub แล้ว ปัจจุบัน LangChain ยังแผนสนับสนุนออกมาหลากหลายระดับ โดยมี 3 แผนให้เลือก ได้แก่ Developer, Plus และ Enterprise ที่สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ซึ่งถ้าหากว่าใครเป็นนักพัฒนาระบบอิสระหรือว่าต้องการลุยเดี่ยวก็สามารถใช้งานได้ “ฟรี” หรือถ้าหากต้องการใช้ฟีเจอร์ระดับองค์กรในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ก็สามารถเลือกใช้ Plus หรือ Enterprise ได้
ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้จาก LangChain
LangChain นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำไปสร้างระบบ AI ที่เป็นแชทบอท ระบบ AI สำหรับการทำ Q&A ถามตอบได้ด้วยภาษาธรรมชาติ ระบบ AI สรุปเอกสาร หรือว่าการสังเคราะห์สร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งการนำ LangChain ไปต่อยอดนั้นทำได้ง่ายมาก ๆ โดยตัวอย่าง Live Demo อย่างเช่น ChatLangChain, WebLangChain ที่ LangChain มีเปิดโค้ดให้เอาไปลองเล่น สร้าง Playground หรือต่อยอดได้เลย
โดยหนึ่งใน Use Case ที่คุณ Donnie Prakoso ยกขึ้นมาในงาน AWS Meetup #24 คือ “การสร้างแชทบอท AI บน Amazon Bedrock ให้มีความจำ (Memory)” ด้วยการใช้ Prompt Template ใน LangChain เพื่อเก็บประวัติ (History) การแชทลงใน Amazon DynamoDB ซึ่งจะทำให้ได้แชทบอทที่สามารถจดจำสิ่งที่พูดคุยกันได้ในเซสชันที่สร้างขึ้นมาได้แบบ ChatGPT อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
บทส่งท้าย
จากทั้งหมดข้างต้น จึงอาจเรียกได้ว่า LangChain คือเครื่องมือแพลตฟอร์มหรือเฟรมเวิร์กแห่งยุค Generative AI อีกเจ้าหนึ่งที่สนับสนุนให้นักพัฒนาระบบสามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน Generative AI ผ่าน LLMs ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่น
และด้วยความง่าย เครื่องมือที่หลากหลาย และสนับสนุนด้วยภาษายอดนิยมอย่าง Python หรือ JavaScript/Typescript จึงทำให้ LangChain ได้กลายเป็นเครื่องมือยอดนิยมที่ทรงพลัง ซึ่งปัจจุบัน LangChain นั้นสามารถบูรณาการเข้ากับผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Amazon Web Services, Google Cloud หรือ Microsoft Azure รวมทั้งฐานข้อมูลเวกเตอร์ (Vector Database) ต่าง ๆ เช่น Pinecone หรือ Cassandra โดยทั้งหมดที่ LangChain สามารถเชื่อมโยงได้นั้นสามารถดูได้ที่นี่
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของ LangChain สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของ LangChain หรือถ้าหากใครเป็นนักพัฒนาระบบสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลอื่น ๆ รวมทั้งเรียนรู้ ทดลอง Clone ไปรันดูได้ผ่าน GitHub ที่นี่
ที่มา: