Forrester ชี้ 5 อุปสรรคในการใช้ GenAI ในงาน Marketing 

0

รายงานการศึกษาจากหลายสำนักคาดการณ์คล้ายคลึงกันว่างานการตลาดหรือ Marketing นั้น จะเป็นสายงานหนึ่งที่ Generative AI เข้ามามีบทบาทมากที่สุด และความสามารถของ GenAI ในปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นก็ตอบโจทย์งานการตลาดหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การนำ GenAI มาใช้งานนั้นอาจไม่ได้ราบรื่นนักด้วยอุปสรรค 5 ประการ จากการวิเคราะห์ของคุณ Jay Pattisall และคุณ Lisa Gately นักวิเคราะห์จาก Forrester

1. การมุ่งเป้าไปที่การลดค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่า Generative AI นั้นมีความสามารถในการช่วยธุรกิจลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายในการจ้างบุคลากร ลดระยะเวลาในการทำงาน หรือค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ทว่าแนวคิดมุ่งเป้าไปที่การลดค่าใช้จ่ายอย่างเดียวนั้นอาจทำให้ธุรกิจหลงลืมถึงประโยชน์ของ AI ที่ไปได้ไกลกว่านั้น เช่น การเพิ่มความแม่นยำในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า การให้บริการที่ตรงความความชอบและความต้องการ หรือการดึงดูดลูกค้ามากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจโดยตรง

2. ความเชี่ยวชาญ AI กระจุกอยู่เพียงบางส่วน

ในระหว่างที่นักการตลาดกำลังเรียนรู้ที่จะนำ GenAI และ AI เข้ามาช่วยงาน บ่อยครั้งที่ความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI นั้นจะถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ทำให้ผู้ที่กำลังเริ่มต้นศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้ไวและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร องค์กรจึงควรสร้างโอกาสในการเรียนรู้และแบ่งบันประสบการณ์ด้าน AI ให้กับทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการทำ Knowledge Sharing, แบ่งปัน Best Practice หรือไอเดียด้านอื่นๆ เมื่อสมาชิกในองค์กรจำนวนมากมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอแล้ว องค์กรก็ย่อมใช้ประโยชน์จาก AI ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การกำกับดูแลและข้อกฎหมายที่เชื่องช้า

ด้วยความรวดเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ไม่แปลกเลยที่รัฐบาลในหลายภูมิภาคยังคงตามหลังอยู่มากในการออกระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาก ข้อกฎหมายด้าน AI ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและอาจจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025 ข้อจำกัดนี้ทำให้องค์กรไม่มีหลักอ้างอิงในการนำ AI มาใช้งาน จึงต้องรอบคอบในการเลือกเครื่องมือมาใช้ วางกลยุทธ์และนโยบายการใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะมีแนวทางการใช้งานที่มีความรับผิดชอบ ปลอดภัย เคารพความเป็นส่วนตัว ถูกจริยธรรม และโปร่งใส

4. การเลือกใช้เครื่องมือด้าน AI ของพนักงานด้วยตนเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อยครั้งผู้ปฏิบัติงานนำเครื่องมือ GenAI ใหม่ๆเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างผลลัพธ์และประสิทธิภาพให้กับงานอย่างรวดเร็วก่อนการอนุมัติอย่างเป็นทางการขององค์กรซึ่งมักจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาที่ยาวนาน ในเมื่อการกระทำเช่นนี้หลีกเลี่ยงได้ยาก ผู้บริหารจึงต้องคอยอัพเดทกับทีมงานอยู่เสมอและสร้างพื้นที่ในการหารือนำเครื่องมือ AI ใหม่ๆเข้ามาใช้ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการนำ AI เข้ามาใช้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น มีการแบ่งปันความรู้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยต่อความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความปลอดถภัย ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และการรักษาความเป็นส่วนตัว ในการนำ AI มาใช้

5. ความกลัวที่จะถูก AI แย่งงาน

AI กำลังจะแย่งงานมนุษย์นั้นเป็นประโยคที่ได้เห็นกันบ่อยและเป็นความกลัวลึกๆในจิตใจของผู้ทำงาน ในขณะที่ผู้บริหารกลัวพลาดโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI พนักงานอาจมีแรงต่อต้านการนำ AI เข้ามาใช้ทำงานอยู่ ดังนั้นองค์กรจึงต้องสื่อสารให้พนักงานรับทราบอย่างทั่วถึงกันว่าเทคโนโลยี GenAI นั้นยังคงต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและไม่ใช่การแทนที่พนักงาน รวมไปถึงการวางแผนการเทรนนิ่งให้ความรู้และ Upskill พนักงานภายในองค์กร