‘การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ คำนี้หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยกลางคนที่ผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วสักระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองอย่างใกล้ชิด หมั่นเข้าไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจจะเป็นภัยเงียบแอบแฝงแต่ไม่แสดงอาการ การเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีก็ทำให้มีโอกาสได้เจอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพไปด้วยในตัว แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลมาก่อน จะมีวิธีการเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างไรบ้าง บทความนี้มีข้อมูลดีๆ มาฝาก
เตรียมความพร้อมทั่วๆ ไป
สำหรับเคล็ดลับการเตรียมตัวตรวจสุขภาพแบบทั่วๆ ไป ในแง่ของร่างกาย แนะนำว่าให้คนไข้พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยๆ นอนให้พอประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้การวัดความดันโลหิต การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ตลอดไปจนถึงอุณหภูมิของร่างกายได้ค่าที่แม่นยำและลดความคลาดเคลื่อนให้ได้มากที่สุด ส่วนในแง่ของอาหารและเครื่องดื่ม แนะนำให้คนไข้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจสุขภาพ งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อยๆ 8-10 ชั่วโมงล่วงหน้าก่อนมาตรวจที่โรงพยาบาล แต่ในกรณีนี้สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อยถ้าหากรู้สึกกระหายน้ำ และแน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพควรแจ้งโรคประจำตัวและอาการแพ้ยาแก่แพทย์และพยาบาลล่วงหน้าด้วย
การเตรียมความพร้อมสำหรับสุภาพสตรี
การเตรียมตัวสำหรับสุภาพสตรีก็อาจจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างออกไปจากการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลของสุภาพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับที่เป็นโลหะ หลีกเลี่ยงการสวมชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็กเนื่องจากต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ สำหรับสุภาพสตรีที่มีประจำเดือนแนะนำว่าให้งดการตรวจไปก่อนเนื่องจากประจำเดือนอาจไปปะปนกับปัสสาวะและทำให้ผลการตรวจสุขภาพคลาดเคลื่อนได้ ส่วนท่านไหนที่สงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์แนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่เสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่องดการเข้าเครื่องเอกซเรย์นั่นเอง
การเตรียมความพร้อมเพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ
แน่นอนว่าการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลนั้นคนไข้จำเป็นจะต้องเก็บสิ่งส่งตรวจ ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะหรืออุจจาระ ก่อนส่งตรวจให้เจ้าหน้าที่ควรทำความสะอาดบริเวณภาชนะรอบนอกให้ดี ในระหว่างเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจแนะนำให้ทิ้งในช่วงแรกแล้วเก็บช่วงกลาง หลีกเลี่ยงช่วงท้าย ปริมาณที่เหมาะสมแก่การส่งตรวจส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่ 20-30 ml หลังจากเก็บเสร็จแนะนำให้ส่งให้เจ้าหน้าที่ภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำมากที่สุด
การเข้าตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลนั้นเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่วัยกลางคนไม่ควรมองข้าม ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เจอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพให้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางด้านร่างกายของแต่ละคน ก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย