จาก Open Source สู่ Open Culture: ส่องวัฒนธรรมเปิด สไตล์ Red Hat ผ่านมุมมองสตรีผู้นำองค์กรไอที

0

การยอมรับความหลากหลายไม่ใช่แค่การยอมรับความแตกต่างทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปิดกว้างทางความคิดขององค์กรที่จะกลายเป็น DNA ส่งต่อถึงตัวพนักงานและต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ด้วย

ทีมงาน ADPT ได้มีโอกาสพูดคุยกับสตรีผู้นำองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกทั้งสองท่าน คือ คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส ผู้จัดการทั่วไปและรองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น และคุณสุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย จากบริษัท Red Hat ในประเด็นมุมมองแนวคิด Open Culture หรือ วัฒนธรรมแบบเปิด ตลอดจนความท้าทายของการสร้างวัฒนธรรมเปิดในบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Open Culture ในมุมมองของ Red Hat เป็นอย่างไร นำมาปรับใช้กับองค์กรในไทยอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกคนที่มีความหลากหลายสามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มาร่วมค้นหาแนวทางกันได้ในบทความนี้ค่ะ

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส กับความเป็นผู้นำสไตล์ Red Hat

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส (Marjet Andriesse) เป็นผู้บริหารสูงสุดของ Red Hat ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปและรองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ซึ่ง คุณมาร์เยจต์ ได้ร่วมงานกับ Red Hat เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ในการดูแลการดำเนินงาน กลยุทธ์ และการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ด้วยการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มคลาวด์เปิดแบบไฮบริด (Open Hybrid Cloud Platform) ของ Red Hat และการส่งเสริมโซลูชันการทำงานอัตโนมัติ

“ผู้เริ่มก่อตั้ง Red Hat มีวิสัยทัศน์เชื่อว่า หากเราเปิดซอฟต์แวร์เป็น Open source จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน”

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส ผู้จัดการทั่วไปและรองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัท Red Hat กล่าว

เพราะ Red Hat เชื่อว่า แนวทาง Open Source ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึง Source Code จะช่วยให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่รุดหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ คุณมาร์เยจต์ ยังดำรงตำแหน่งประธานสภาเพื่อความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity & Inclusion Council) ประจำ Red Hat APAC ด้วย โดยเธอมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในเรื่องความหลากหลายและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเทคโนโลยี (Women in Tech) และสนับสนุนผู้มีความสามารถในภูมิภาคเอเชียให้ดำรงตำแหน่งผู้นำได้

Open Culture: เปิดองค์กรเพื่อนวัตกรรมที่เปิดกว้าง

“เทคโนโลยี Open Source ที่ดีที่สุด ขับเคลื่อนด้วย Open Culture” 

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส GM & SVP ประจำภูมิภาค APJ บริษัท Red Hat กล่าว

แนวคิด Open Source ของ Red Hat ไม่ได้มีแค่ตัวเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร “Open Culture” แบบฉบับของ Red Hat ด้วย

วัฒนธรรมองค์กรแบบเปิด (Open Culture) ของ Red Hat มีรากฐานมาจากแนวคิดของ Open Source ที่ไม่มีการถือครอง Source Code เป็นของตนเอง แต่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาต่อยอดได้

Red Hat ได้ยึดถือค่านิยมหลัก 4 ประการ ขององค์กรที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมเปิดกว้าง ซึ่งประกอบด้วย 

  • Freedom (เสรีภาพ)
  • Courage (ความกล้าหาญ)
  • Commitment (ความมุ่งมั่น)
  • Accountability (ความรับผิดชอบ) 

เมื่อมีพนักงานจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของ Red Hat ทางบริษัทจะประเมินก่อนว่า บุคคลนั้นมีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรหรือไม่

ดังนั้น องค์กรจึงมีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกัน คือ มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไร้ลำดับชั้นบังคับบัญชา ไม่ยึดติดกับระบบอาวุโส แต่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถของบุคคล (Meritocracy) และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถนำเสนอความคิดใหม่ผ่านแพลตฟอร์มภายในองค์กรได้

“พนักงานคือทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของ Red Hat เพราะเราไม่มีผลิตภัณฑ์จับต้องได้ ไม่มี Source Code ที่เป็นกรรมสิทธิ์ สิ่งเดียวที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นคือตัวพนักงาน หากคุณไม่ดูแลพนักงานให้ดี ไม่สร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ บริษัทคงไม่ประสบความสำเร็จ”

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส GM & SVP ประจำภูมิภาค APJ บริษัท Red Hat กล่าว

ในฐานะผู้นำ Red Hat คุณมาร์เยจต์ เชื่อในประโยคที่ว่า “People are our IP” โดยมุ่งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิด และขับเคลื่อนค่านิยมองค์กรที่เปิดกว้าง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างทางความคิด ช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย มีความโปร่งใส กระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มความคล่องตัวในการปรับตัวในองค์กร

“เมื่อคุณรู้สึกปลอดภัย มีความโปร่งใส ด้วยวัฒนธรรมแบบเปิด คนจะรู้สึกมีพลังมากขึ้น และเมื่อคนมีพลัง พวกเขาก็จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา และนวัตกรรมเหล่านั้นก็จะนำไปต่อยอดสู่ความสำเร็จได้” 

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส GM & SVP ประจำภูมิภาค APJ บริษัท Red Hat กล่าว

ไทยและเอเชียแปซิฟิก “Open” กับ Open Culture หรือไม่?

แม้ว่าแนวทาง Open Culture จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและความคล่องตัวให้กับองค์กรอย่าง Red Hat แต่หากย้อนกลับมามองบริบทของประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งภูมิหลัง ศาสนา ความเชื่อต่าง ๆ องค์กรอาจเกิดคำถามว่า ประเทศเหล่านี้พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมแบบเปิดในองค์กรของตนหรือไม่ หรือจะเผชิญความท้าทายอะไรบ้างในการปรับใช้แนวคิดดังกล่าว

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวมนั้น คุณมาร์เยจต์ มองว่า แม้วัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดจะดำเนินไปได้ แต่อาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการสร้างความไว้วางใจก่อน เนื่องจากวัฒนธรรมในแถบนี้มักให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเคารพและความไว้วางใจเป็นพื้นฐาน

คุณสุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย Red Hat เสริมว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความเปิดรับต่อความคิดใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายจากระบบความคิดแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นและการเคารพผู้อาวุโส

“ในสังคมไทยนั้น แม้การสื่อสารแบบเปิดเผยและตรงไปตรงมาอาจเป็นเรื่องที่คนไทยไม่คุ้นเคย แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อปรับกระบวนทัศน์และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

คุณสุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย Red Hat กล่าว

คุณมาร์เยจต์ และคุณสุพรรณี ได้ให้คำแนะนำแก่องค์กรไทยว่า การนำวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดเข้ามาใช้จึงต้องทำควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้ทุกฝ่ายในองค์กรมีความไว้วางใจและเคารพซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ โดยผู้นำองค์กรจะต้องเป็นแบบอย่างในการเปิดรับความคิดเห็นจากทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานกล้าที่จะแสดงออกและนำเสนอความคิดใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย

Red Hat เปิดรับความหลากหลายอย่างเท่าเทียม

อีกหนึ่งความท้าทายของการสร้าง Open Culture ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ วัฒนธรรมการเปิดรับความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติในองค์กร

ในฐานะประธานสภา DEI ประจำ Red Hat APAC คุณมาร์เยจต์ ตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมไปถึงผู้หญิงในระดับผู้นำ ที่มีจำนวนน้อยและมีบทบาทที่ไม่ทัดเทียมเท่า 

คุณมาร์เยจต์ จึงส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปัจจุบัน Red Hat มีความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ อย่าง Microsoft, Dell, Intel และมหาวิทยาลัยกว่า 2,000 แห่ง ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อช่วยพัฒนาทักษะเทคโนโลยีสำหรับนักศึกษาหญิง และเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ คุณมาร์เยจต์ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมในระดับองค์กรด้วย โดยเธอมีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันให้ผู้หญิงเอเชียก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบัน Red Hat ก็มีจำนวนผู้จัดการประจำประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ที่เป็นผู้หญิงถึง 6 คน แล้ว

“แม้ Red Hat จะมีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผู้นำต้องไม่ถูกจำกัดเฉพาะผู้ที่มีภูมิหลังวัฒนธรรมตะวันตก ถ้าวันหนึ่ง ดิฉันต้องมีผู้สืบทอดตำแหน่ง ผู้นั้นควรเป็นผู้นำเชื้อสายเอเชีย เพราะความหลากหลายไม่ได้มีแค่เพศสภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรมด้วย”

คุณมาร์เยจต์ แอนดรีส GM & SVP ประจำภูมิภาค APJ บริษัท Red Hat กล่าวปิดท้าย

บทส่งท้าย

เราได้เรียนรู้แล้วว่า วัฒนธรรมและค่านิยมการทำงานที่เปิดกว้างสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจภายในให้กับพนักงานของ Red Hat อันนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งได้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังในการพัฒนากำลังคนที่มีความหลากหลายและสร้างวัฒนธรรมแห่งการรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

Red Hat ภายใต้การนำของ คุณมาร์เยจต์ ได้สร้างแบบอย่างที่ดีสำหรับการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงนับว่าเป็นบทเรียนที่องค์กรควรรับนำแนวทางไปปรับใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมเปิดเพื่อนวัตกรรมที่เปิดกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไปในอนาคต

ผู้ที่สนใจแนวทางการสร้างวัฒนธรรมเปิดในองค์กร สามารถอ่านหนังสือ The Open Organization, Igniting Passion and Performance เขียนโดย Jim Whitehurst, CEO บริษัท Red Hat หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Red Hat’s Open Culture Guide