ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีเทคโนโลยีและเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูล การประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรมนั้นมีมาให้เห็นทุกวันอย่างล้นหลามและขยายวงกว้างไปยังแวดวงต่างๆ หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัย Cardiff ที่มีชื่อว่า “Can We Predict a Riot? Disruptive Event Detection Using Twitter” ที่นำข้อมูลเครือข่ายสังคมมาสร้างระบบตรวจจับการก่อจลาจลที่ทำงานได้เร็วกว่าข่าวกรองของตำรวจ
เทคโนโลยีจำนวนไม่น้อยถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจจับเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น การก่อร้าย และแม้เทคโนโลยีเหล่านั้นจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจจับเหตุการณ์เล็กๆเช่นการจลาจล ไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุทางท้องถนน ท่ามกลางข้อมูลที่ไหลไปตามเวลาของ social media นั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากกว่า
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cardiff นำทีมโดย Nasser Alsaedi, Pete Burnap, และ Omer Rana ให้ความสนใจกับการตรวจจับเหตุการณ์ความวุ่นวายขนาดย่อมเหล่านี้เป็นพิเศษ ในงานวิจัยดังกล่าว พวกเขาได้พัฒนาระบบตรวจจับเหตุการณ์วุ่นวายที่จะคอยเก็บข้อมูลจากทวิตเตอร์ ทำการประมวลผล จัดกลุ่ม จำแนกเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ และสรุปผล ด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและ machine learning
Nasser และทีมทำการทดสอบประสิทธิภาพของระบบดังกล่าวด้วยการป้อนข้อมูลทวิตเตอร์ในช่วงเหตุการณ์จลาจลช่วงต้นเดือนสิงหาคม ปี 2011 ในสหราชอาณาจักร กว่า 1.6 ล้านทวีต และพบว่าระบบสามารถ”ทำนาย”เหตุการณ์จลาจลขึ้นได้เร็วกว่าข่าวกรองของตำรวจถึง 28 นาที จากการสรุปผลของทวีตที่กล่าวว่า “not feeling the rumors that the rioters are looking to move to edmonton and #enfield town. DON’T YOU PEOPLE THINK YOU’VE DONE ENOUGH!!!!”
ความสำเร็จในการระบุเหตุการณ์วุ่นวายขนาดย่อมนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือการบริการสาธารณะ เมื่อมีชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมาเกี่ยวข้อง การรู้เหตุการณ์เร็วกว่าแม้เพียงไม่กี่นาทีนั้นย่อมเป็นเรื่องที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง