ในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มากกว่า 6500 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 2 เท่าของปัจจุบันเลยทีเดียว เมื่อคนมากขึ้น เมืองย่อมต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เว็บไซต์ Government Technology จึงนำเสนอ 5 แนวทางการนำเทคโนโลยีมาแรงของยุคอย่าง Internet of Things มาช่วยพัฒนาโครงสร้างเหล่านั้น
1. ปรับปรุงการจัดการนำ้
จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่าในแต่ละปีนั้นเราสูญเสียน้ำจำนวนกว่า 32,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปเปล่าๆ และหนึ่งในสาเหตุคือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี เก่าเกินไป หรือการขโมย การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของระบบจ่ายน้ำ ทำให้สามารถตรวจสอบการไหลเวียนและการสูญเสียน้ำในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างทันท่วงที
2. ปรับปรุงการจัดการของเสีย
ในทำนองเดียวกันกับการตรวจตาระบบน้ำ ระบบตรวจสอบและควบคุมของเสีย เช่น แพลตฟอร์ม SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) การไม่รู้สถานะ เช่นการที่ท่อระบายของเสียมีของเสียมากกว่าความจุจนทำให้ของเสียเกิดล้นไปยังที่อันไม่พึงประสงค์นั้นสามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อผู้อยู่อาศัยภายในเมือง การเฝ้าระวังสถานะเหล่านี้ด้วยข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ แรงดัน และความเร็วในการเคลื่อนที่ ย่อมจะทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หรือก่อนที่มันจะเกิด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและความเสื่อมอุปกรณ์ภายในระบบเองด้วย
3. ปรับปรุงระบบไฟฟ้า
คุณภาพของกระแสไฟฟ้านั้นอาจไม่ส่งผลอะไรกับการใช้สอยภายในบ้านเรือนนัก แต่สำหรับในระดับอุตสาหกรรมนั้น การเปลี่ยนแปลงของแรงดันไฟฟ้า ความถี่ หรือลักษณะคลื่นอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่ออุปกรณ์ เครื่องจักร และขั้นตอนการผลิตได้ การใช้เซ็นเซอร์เข้ามาดูแลระบบการจ่ายไฟฟ้าจะทำให้ควบคุมคุณภาพไฟฟ้าง่ายขึ้น เกิดข้อผิดพลาดในระบบน้อยลง ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสหากรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่ออายุการใช้งานและการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานที่ละเอียดอ่อนต่อคุณภาพไฟฟ้า เช่น รถไฟฟ้า อีกด้วย
4. สร้างระบบเกษตรกรรมอัจฉริยะ
ในเมืองใหญ่ที่ทุกตารางเมตรมีมูลค่าและประชากรรังแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น การทำการเกษตรในพื้นที่ที่เหลือย่อมมีประโยชน์กว่าจะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เกษตรกรรมในเมือง (urban farming) กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะเมื่อมีระบบเซ็นเซอร์ที่คอยดูแลสถานะฟาร์มแบบ real-time ในการเกษตรในเมืองที่มักมีโครงสร้างที่แตกต่าง เช่นการปลูกพืชบนดาดฟ้าของตึกสูง หรือการเกษตรแนวดิ่ง การที่เจ้าของฟาร์มสามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นความชื้นในดิน ระดับน้ำบาดาล ฯลฯ ตลอดเวลานั้นจะช่วยให้เกษตรกรรมในเมืองนั้นเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
5. การก่อสร้างที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยการตรวจสอบคุณภาพอากาศและสภาพอากาศ
มลพิษที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างนั้นอาจส่งผลเสียต่อชุมชนรอบข้างและกระจายเป็นวงกว้างได้มากกว่าที่คิด การประเมินสภาพอากาศเช่นความเร็วและทิศทางลมจะช่วยให้สามารถทำนายพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษ และการประเมินคุณภาพอากาศและความรุนแรงของมลพิษโดยการวัดองค์ประกอบในอากาศด้วยเซ็นเซอร์ IoT สามารถช่วยลดผลกระทบของมลพิษต่อผู้คนในชุมชนได้ ดังที่มีมาแล้วในระบบ London Air Quality Network