หลายคนคงเคยได้ยินถึงอาการ burnout หรืออาการเหนื่อยล้าจากงานที่จากการสำรวจพบว่าเกือบทุก 1 ใน 2 คนในทุกแวดวงจะต้องประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็น CEO หรือพนักงานระดับอื่นๆก็ตาม แต่รู้ไหมว่าอาการ burnout นี้ นอกจากจะประกอบไปด้วยความเหนื่อยล้าแล้ว ยังมีความเหงาเป็นส่วนผสมอีกด้วย
ก่อนที่จะตกใจกันไป ต้องอธิบายให้ชัดเจนก่อนว่าความเหงานี้ไม่ใช่ความเหงาจากการแยกตัวจากสังคมตามนิยามของความเหงาที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เป็นความเหงาที่เกิดจากความเหนื่อยทางอารมณ์ที่มาพร้อมกับอาการ burnout นั่นเอง
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่าความเหงา ไม่ว่าจะจากความเหนื่อยล้า หรือการแยกตัวจากสังคม ต่างก็มีผลกระทบในแง่ลบกับตัวบุคคลทั้งสิ้น งานวิจัยโดย Sarah Pressman จาก University of California, Irvine พบว่าความเหงาสามารถทำให้คนเราอายุสั้นลงได้มากกว่าโรคอ้วน การบริโภคแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่เสียอีก ในขณะที่ในอีกหนึ่งงานวิจัยจาก University of York พบว่าความเหงานั้นเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดหัวใจ
ความเหงานั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง และความไม่เชื่อมต่อ (disengagement) ที่เกิดจากความเหงานั้นส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพการทำงานซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัทอย่างร้ายแรง โดยการศึกษาจาก Smith School of Business ณ Queen’s University ประเทศแคนาดา และ Gallup Organization ได้แสดงถึงผลอย่างสุดโต่งของความไม่เชื่อมต่อว่าอาจก่อให้เกิดการละเลยหน้าที่มากขึ้นร้อยละ 37, อุบัติเหตุมากขึ้นร้อยละ 49, กำไรลดลงร้อยละ 16, และมูลค่าหุ้นลดลงร้อยละ 65 ตามช่วงเวลา
แน่นอนว่าเมื่อมีผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทต่างๆต่างก็หันมาหาทางแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ เริ่มจากการลดความเครียด การรณรงค์ให้พนักงานเอาใจใส่กันและกันมากขึ้น ไปจนถึงการลดภาระความรับผิดชอบของพนักงานลง
วิธีเหล่านี้ย่อมสามารถช่วยพนักงานผู้มีอาการ burnout ได้ แต่หากมองถึงความสัมพันธ์ของอาการเหนื่อยล้ากับความเหงาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ดีขึ้นภายในที่ทำงานนั้นก็สามารถเข้ามาช่วยได้เช่นกัน งานวิจัยในปี 2002 ของ Caren Baruch-Feldman ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการสนับสนุนทางสังคมในที่ทำงานและอัตราของอาการ burnout ที่น้อยลง ซึ่งรวมไปถึงความพึงพอใจในการทำงานและผลิตผลที่ดีขึ้นด้วย
อีกงานวิจัยหนึ่งจากสหราชอาณาจักรซึ่งถูกว่าจ้างโดยองค์กร Association of Accounting Technicians (AAT) ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง engagement ในที่ทำงานและความสัมพันธ์อันดี ในลักษณะที่บุคคลนั้นๆรู้สึกมีคุณค่า ได้รับการสนับสนุน ความเคารพ และมีความมั่นคงในที่ทำงาน และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นจากความสัมพันธ์อันดีนี้ก็ให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผลิตผลและประสิทธิภาพการทำงาน
นอกไปจากนี้ เว็บไซต์ HBR ยังได้แนะนำแนวทางที่ผู้นำองค์กรและนายจ้างสามารถปฏิบัติเพื่อลดอาการ burnout ได้ ดังนี้
1. สร้างสถานที่ทำงานที่มีความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และไม่มีใครแปลกแยก
ความห่วงใย การให้กำลังใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน ความซื่อสัตย์ และการให้อภัย นั้นได้รับการศึกษาว่าเป็นบรรยากาศในการทำงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยรวม โดยเฉพาะความเอาใจใส่ที่ในอีกงานวิจัยหนึ่งรายงานว่าอาจทำตัวเสมือนเกราะป้องกันความเหนื่อยล้าและอาการ burnout
2. สนับสนุนให้พนักงานทุกคนในบริษัทสร้างเครือข่ายในการปรึกษาปัญหา
เครือข่ายเล็กๆที่พนักงานสามารถปรึกษาได้ทั้งปัญหาการงานและปัญหาด้านอารมณ์จะช่วยลดความรู้สึกไม่เชื่อมต่อกับใครของพนักงานลง บริษัทอาจช่วยริเริ่มเครือข่ายด้วยการจัดพาร์ทเนอร์ให้พนักงานและช่วยพนักงานให้สามารถเข้าถึงเมนเทอร์ โค้ช และเพื่อนร่วมงานอื่นๆได้ง่ายขึ้น การจัดสรรเวลาและการส่งมอบข้อมูลการติดต่อพร้อมการแนะนำตัวคร่าวๆโดยบริษัท ก็อาจเป็นการลดกำแพงในการเชื่อมความสัมพันธ์วิธีหนึ่ง
3. ฉลองความสำเร็จเป็นหมู่คณะ
การฉลองความสำเร็จเป็นหมู่คณะทั้งบริษัทนั้นจะช่วยเพิ่ม sense of belonging และความรู้สึกผูกพันธ์ต่อบริษัทให้กับพนักงาน ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบริษัทและพนักงานคนอื่นๆจะช่วยป้องกันการเกิดอาการ burnout ได้เป็นอย่างดี