นักธรณีวิทยาค้นพบแร่ใหม่ด้วย Big Data และการวิเคราะห์เครือข่าย

0

แต่เดิมนั้นการค้นพบแร่ใหม่ๆที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนั้นมักจะเป็นเรื่องของ”ดวง”เสียมากกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นดังเช่นในยุคปัจจุบัน การทำนายถึงการมีอยู่ของแร่ใหม่ๆและการคาดเดาของแหล่งที่อยู่ของพวกมันนั้นก็ไม่ใช่แค่เรื่องโชคอีกต่อไป

ในงานวิจัย “Network analysis of mineralogical systems” ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงการนำเทคนิคที่เรียกว่า“ทฤษฎีเครือข่าย” มาใช้ในงานด้านแร่วิทยาเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักธรณีวิทยาค้นพบความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างแร่ต่างๆที่ไม่เคยพบมาก่อนแล้ว เทคนิคเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในการทำนายการมีอยู่ของแร่อย่างต่ำ 1,500 ชนิดที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และแหล่งที่อยู่ของพวกมันอีกด้วย

ภาพตัวอย่างการแสดงผลข้อมูลของแร่ตามแบบฉบับ network theory

ทฤษฎีเครือข่ายดังกล่าวเป็นศาสตร์ที่ใช้ประโยชน์จากการแสดงผลข้อมูลในรูปแบบของเครือข่ายมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆมากมาย เช่น การวิเคราะห์การแพร่กระจายของโรค การวิเคราะห์เครือข่ายผู้ก่อการร้าย หรือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้คนในเครือข่าย social network เช่น facebook

ก่อนหน้านี้นั้นแม้นักธรณีวิทยาจะมีการจัดเก็บข้อมูลของแร่ที่ถูกค้นพบกว่า 5,200 รายการอย่างละเอียดที่รวมไปถึงข้อมูลเช่นองค์ประกอบทางเคมี โครงสร้างของอะตอม และแหล่งที่พวกมันถูกค้นพบทั่วโลก แต่รายละเอียดมากมายเหล่านี้เมื่อนำมาเก็บลงในฐานข้อมูลรวมกันแล้วมีขนาดใหญ่ถึงระดับ big data ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการแสดงผลและหยิบข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้มาวิเคราะห์ ตรงจุดนี้เองที่เทคโนโลยีและศาสตร์ใหม่อย่างการวิเคราะห์เครือข่ายได้เข้ามามีบทบาท

เทคนิคเดียวกันนี้ยังได้ทำนายการมีอยู่ของแร่คาร์บอน 145 ที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อน ซึ่งหลังจากการทำนายเกิดขึ้นก็ได้มีการจัดตั้งโครงการ Deep Carbon Observatory’s Carbon Mineral Challenge เพื่อค้นหาแร่ดังกล่าว และในปัจจุบัน 10 ใน 145 นั้นก็ได้ถูกค้นพบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ผมคิดว่าสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการค้นพบแร่ให้สูงขึ้นอย่างที่พวกเราจินตนาการไม่ออกเลยทีเดียว” Dr. Robert Hazen หนึ่งในนักวิจัยผู้มีส่วนร่วมในการตีพิมพ์งานวิจัยนี้กล่าว