นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์, big data, หรือ IoT มาใช้นั้นคงไม่นับว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่นักในปัจจุบัน แต่โปรเจค Hands Free Hectare ก็เข้ามาทำให้เราตื่นตาอีกครั้ง กับระบบเกษตรกรรมที่ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์เลยแม้แต่น้อย
หัวใจของโปรเจค Hands Free Hectare ผลงานจากมหาวิทยาลัย Harper Adams นี้คือการใช้เทคโนโลยี automation หรือ”หุ่นยนต์”ในการทำการเกษตรทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การหว่านเมล็ด ดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย สเปรย์กำจัดวัชพืช และเก็บเกี่ยว
แน่นอนว่าในการทำฟาร์มข้าวบาร์เล่ย์ขนาด 1.5 เอเคอร์ (ประมาณ 6070 ตารางเมตร) ในการทดลองนั้นมีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการหว่านเมล็ด รดน้ำ และรอเวลาพืชผลงอกเงย เพราะระบบดังกล่าวยังต้องมีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ในเรื่องต่างๆ เช่น การกะปริมาณปุ๋ย การตรวจสอบว่าข้าวบาร์เล่ย์พร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ ซึ่งระบบ Hands Free Hectare ดังกล่าวก็ได้ใช้หุ่นยนต์และโดรนในการตรวจสอบสถานะ และการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำการตัดสินใจ
เมื่อสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว ทีมวิจัยพบว่าระบบดังกล่าวเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ 4.5 เมตริกตันต่อ 10,000 ตารางเมตร ซึ่งยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 6.8 เมตริกตันต่อ 10,000 ตารางเมตรที่ฟาร์มแรงงานมนุษย์ทำได้ อีกทั้งการเก็บเกี่ยวครั้งนี้ได้ใช้ต้นทุนไปถึง 200,000 ปอนด์ (ประมาณ 8.8 ล้านบาท) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเงินจำนวนนี้รวมไปถึงการลงทุนซื้อรถแทรกเตอร์และรถเก็บเกี่ยวซึ่งไม่จำเป็นต้องซื้อในการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม Hands Free Hectare นับเป็นก้าวแรกของระบบเกษตรกรรมที่หุ่นยนต์และโดรนทั้งหลายทำงานได้อัตโนมัติโดยไม่พึ่งพามนุษย์ หนำซ้ำยังนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ช่วยตรวจสอบสถานะ ช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น ลดต้นทุน อีกทั้งยังทำให้ฟาร์มสามารถดำเนินการได้ 24 ชั่วโมงในทุกๆวันของสัปดาห์ ซึ่งหากดูแนวโน้มต้นทุนของเทคโนโลยีที่ราคาถูกลงทุกวันเช่นในปัจจุบันแล้ว ระบบลักษณะดังกล่าวคงเข้ามาเป็นหนึ่งในอนาคตของเกษตรกรรมได้ไม่ยาก
หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปรับชมได้ที่ช่อง YouTube Hands Free Hectare HFH