ในการสำรวจผู้บริหารในองค์กรทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรมมากกว่า 2,000 ราย โดย McKinsey ในปี 2014 ตอนหนึ่งของรายงานได้กล่าวถึงปัจจัยที่เหล่าผู้บริหารให้ความเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งมีด้วยกันอยู่ 7 ข้อ ที่สรุปมาให้อ่านกันแล้ววันนี้
1. ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง
ขึ้นชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่แล้วแน่นอนว่าคงหนีอุปสรรคและขั้นตอนอันยุ่งยากไม่พ้น การเตรียมตัวเผชิญหน้ากับเรื่องราวเหล่านั้นที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการตั้งเป้าหมาย ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และกำหนดภารหน้าที่ให้ชัดเจนในทุกๆระดับขององค์กร
2. การจัดลำดับความสำคัญ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เป็นเหมือนโครงการใหญ่ๆทั่วไปที่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ แต่สิ่งที่ควรนำไปพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากความสำคัญของเนื้อหางานแล้วก็คือการจัดไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงที่มากไปนักสำหรับผู้คนภายในองค์กรจนเกิดปัญหาในการดำเนินงานต่อไป
3. ทรัพยากรและความรู้ความสามารถที่เพียงพอ
แน่นอนว่าความสำเร็จในการดำเนินการใดๆก็ตามย่อมต้องการกำลังคน ทักษะ งบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ องค์กรควรประเมินความพร้อมทางทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่เทียบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงมือทำทุกครั้ง
4. หน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน
การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนนั้นจะช่วยให้การทำการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้ง่ายต่อการประเมินสถานการณ์เพราะความรับผิดชอบที่ชัดเจนย่อมหมายถึงการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับความรับผิดชอบนั้นๆด้วย
5. การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลง
หลายครั้งที่สถานการณ์ในแผนนั้นแตกต่างกับสถานการณ์จริงโดยสิ้นเชิง องค์กรจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ความสามารถในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง
6. การวางแผนล่วงหน้าถึงความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลง
ความยั่งยืนนั้นมีน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ การวางแผนในการเปลี่ยนแปลงที่ดีจึงต้องคิดรวมไปถึงวิธีที่จะทำให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่สืบไป โดยอาจนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องดำเนินการในแผนการเปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้
7. การจัดการโครงการที่ดี
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับองค์กรนั้นเรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงของทุกฝ่ายในองค์กร ซึ่งการจัดการที่ดีนั้นจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง การสร้างความเข้าใจร่วมกัน การสื่อสารที่ชัดเจน รวมไปถึงการกำหนดขั้นตอนมาตรฐานในการดำเนินการประเภทต่างๆจะช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ