5 ระดับของการใช้ AI ในที่ประชุม

0

ประสิทธิภาพของการดำเนินการในองค์กรนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามาช่วยได้ ในวันนี้เราจะมาดูกันว่า ตามทัศนะของ Cisco การนำ AI เข้ามาใช้ในที่ประชุมนั้นทำได้อย่างไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับตามความซับซ้อนของเทคโนโลยี

ระดับ 1: รับคำสั่งและควบคุมการประชุม

ระดับแรกของ AI ในที่ประชุมนั้นคือปัญญาประดิษฐ์ที่มาในรูปแบบของ chatbot และระบบโต้ตอบอัตโนมัติที่เราอาจคุ้นเคยกันดีในอุปกรณ์เช่น Google Home พวกบอทเหล่านี้จะทำงานโดยการรับคำสั่งเสียง เช่น “เข้าร่วมการประชุม” และดำเนินการตามโปรแกรมที่ได้ตั้งไว้ แม้ระบบดังกล่าวอาจเข้าใจคำสั่งและบริบทได้อย่างจำกัด แต่มันก็จะช่วยให้การเข้าร่วมหรือการจัดการประชุมเป็นไปอย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ระดับ 2: เข้าใจภาษาธรรมชาติ

ขั้นต่อมาจากการรับคำสั่งนั้นคือการที่ปัญญาประดิษฐ์มีความเข้าใจในบริบทและสถานการณ์มากขึ้น จึงสามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นตามไปช่วย เช่น ผู้เข้าร่วมประชุมอาจสามารถสั่งกับระบบให้แจ้งเตือนเจ้าของการนำเสนอให้ส่งไฟล์สไลด์ให้ทีมได้ โดย AI ในระดับ 2 นี้จะสามารถเชื่อมโยงความหมายของถ้อยคำง่ายๆไปยังเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ผู้นำเสนอเป็นใคร ไฟล์ไหนที่กำลังถูกนำเสนออยู่ เป็นต้น

ระดับ 3: เข้าใจภาษาพร้อมความสามารถในการจับใจความ

ในระดับที่ 3 นี้ นอกจากความสามารถในการเข้าใจแล้ว บอทยังจะสามารถสรุปการประชุมได้ว่ามีประเด็นสำคัญใดถูกหารือไปบ้างในการประชุมที่ผ่านมา โดยอาจใช้เทคโนโลยี เช่น การทำ word clouds การทำ sentiment analysis หรือการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ถูกพูดถึงกับ knowledge base หรือคำศัพท์เฉพาะภายในบริษัท เพื่อช่วยในการสรุปใจความทั้งหมดของการประชุม รวมไปถึงจุดประสงค์ของผู้พูดอย่างแม่นยำ

ซึ่งสำหรับบอทในระดับ 3 นี้ ทาง Cisco เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาระบบที่เสถียรพร้อมใช้งานออกให้บริการในอีก 5 ปี โดยเฉพาะการสรุปจุดประสงค์ของผู้พูดจากคำพูด ที่ต้องใช้การวิเคราะห์ที่ซับซ้อนไปกว่าการวิเคราะห์ความหมายปกติ

ระดับ 4: ผู้ร่วมทีมที่ฉลาดและรอบคอบ

ระดับต่อมานั้น ปัญญาประดิษฐ์จะไม่เป็นเพียงเครื่องมืออีกต่อไป แต่จะทำงานเสมือนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเลยทีเดียว ระบบอาจมีส่วนรวมในที่ประชุมด้วยการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ร่วมประชุมกำลังหารือ หรือสามารถเข้าใจได้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมได้รับมอบหมายงานใดบ้างระหว่างการประชุม ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ระบบปัญญาประดิษฐ์จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทั้งในรูปของคำพูดและท่าทางที่แสดงออกมา ซึ่งก็ยังคงเป็นความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีอยู่

ระดับ 5: มันสมองด้านการจัดการทีมและกลยุทธ

ในขณะที่บอทในระดับ 4 นั้นอาจช่วยให้ทีมทำงานได้สำเร็จ ปัญญาประดิษฐ์ในระดับ 5 ที่ Cisco วาดฝันไว้นี้จะสามารถช่วยได้ทั้งองค์กรเลยทีเดียว จากเดิมที่บอทจะสนใจแค่การประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่ในระดับสูงสุดนี้พวกมันจะสามารถจดจำได้ว่าการประชุมแต่ละครั้ง พนักงานแต่ละคน หรือโปรเจคแต่ละโปรเจคมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

ระบบดังกล่าวจะทำการวิเคราะห์ไปถึงข้อมูลในบทสนทนา อีเมล์ หรือแม้กระทั่งเป้าหมายของบริษัท และสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมในโปรเจค ความต้องการของโปรเจค หรือความเข้ากันได้ของคนในทีม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป

อนาคตหลังจากนั้น

หากระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประชุมสามารถก้าวไกลไปได้ถึงระดับที่ 5 ก็อาจจะไม่น่าแปลกใจนักหากวันหนึ่งมันถูกพัฒนาต่อยอดจนสามารถก้าวเข้ามาทำหน้าที่เดียวกับทีมผู้บริหารขององค์กรที่คอยตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายและกลยุทธ

แต่ก็แน่นอนว่าหนทางไปสู่เทคโนโลยีระดับนั้นยังอีกยาวไกล และแม้ปัญญาประดิษฐ์จะมีศักยภาพที่เพียงพอ สุดท้ายอำนาจในการตัดสินใจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรนั้นก็ยังคงอยู่ที่มนุษย์อยู่ดี