ในการประชุมเสวนา ณ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ Christine Lagarde ผู้อำนวยการ International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์ว่า cryptocurrency เช่น Bitcoin จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เหมือนกับอินเตอร์เน็ตที่ปัจจุบันถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
Lagarde กล่าวว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะสามารถผลิตเงินสกุลดิจิทัลที่ไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงแค่การใช้จ่ายในเชิงดิจิทัลอย่างเช่น Paypal หรือ e-money ต่างๆ แต่จะเป็นค่าเงินอีกสกุลหนึ่งเหมือนกับที่เรามีเงินสกุล ดอลล่าร์ ยูโร และบาท ซึ่งมีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นสิ่งกลางในการแลกเปลี่ยนเหมือนกับ เงินตราทั่วไปที่เราใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งเธอมองมาปัญหาต่างๆของ cryptocurrency ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้จะสามารถถูกแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในเวลาไม่นานนัก
ในขณะเดียวกัน cryptocurrency จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศ ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันทางการเงินต่างๆมีบทบาทน้อยลง โดยเฉพาะในระบบผูกขาดในการออกเงินตรา
Cryptocurrency ไม่มีสถาบันกลางในการแลกเปลี่ยน
ความแตกต่างของเงินสกุลดิจิทัลเหล่านี้คือ มันไม่ได้ใช้ระบบเฟียต (fiat currency system) ที่มีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดค่าของเงินในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นระบบเงินตราที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ในระบบของ cryptocurrency นั้นไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะใช้การดำเนินการแบบบุคคลต่อบุคคล (peer-to-peer transactions)
การที่ระบบเงินนั้นไม่มีตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เราสามารถประหยัดเวลาและเงินกับค่าดำเนินบริการต่างๆได้มากขึ้น และสามารถส่งเสริมการธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การโอนระหว่างประเทศในจำนวนน้อยๆนั้น อาจจะไม่คุ้มค่าเพราะค่าบริการข้ามประเทศนั้นมีราคาสูงและใช้เวลาดำเนินการนาน จึงทำให้ผู้โอนไม่อยากโอนเงิน แต่การที่มีระบบแบบบุคคลต่อบุคคลของ cryptocurrency สามารถย่นระยะเวลาดำเนินการและประหยัดค่าบริการลงไปได้
ความปลอดภัยและความมั่นคงของ cryptocurrency
การใช้เงินผ่านระบบดิจิทัลจะง่ายและปลอดภัยกว่าการใช้เงินสดในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะเวลาต้องขนส่งเงินสด หรือเวลาตรวจสอบว่าเป็นเงินจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน หลายคนอาจจะแย้งว่า cryptocurrency ค่อนข้างผันผวนและอาจจะเสี่ยงเกินกว่าที่จะใช้ได้ แต่ Lagarde เชื่อว่านี่เป็นปัญหาของการเริ่มต้นใหม่ของระบบ ในอนาคตเมื่อเรามีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถขจัดปัญหาพวกนี้ออกไปได้
นอกไปจากนี้ ระบบของ cryptocurrency นั้นสามารถถูกออกแบบให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้เราสามารถใช้ algorithm ในการตรวจสอบสภาพเศรษฐกิจ และวิเคราะห์นโยบายทางการเงินที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามข้อมูลจริง จึงทำให้มันกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชน ในกรณีค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลที่ผูกติดอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศเจ้าของเงินสกุลและนโยบายทางการเงินของประเทศนั้น
หน้าที่ใหม่ของสถาบันทางการเงินต่างๆ
เมื่อ cryptocurrency ถูกใช้อย่างกว้างขวาง หน้าที่ของสถาบันทางการเงินของประเทศและเชิงพาณิชย์จะถูกลดลง โดยเฉพาะงานบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน (banking services) ในสายตาของ Lagrade เธอมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะสถาบันทางการเงินจะมีเวลามากขึ้นในการทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น การจัดการกองทุนรวม การลงทุนต่างๆ หรือการปล่อยกู้
อย่างไรก็ตาม Lagrade ได้ทิ้งข้อสงสัยไว้ว่า บทบาทในการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อธนาคารกลางไม่สามารถใช้กลไกเดิมๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการปล่อยเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาของสกุลเงิน cryptocurrency ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามท่ามกลางข้อสงสัยมากมายที่นักนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ และสถาบันการเงินกำลังมีให้แก่สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบัน