เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในแง่มุมต่างๆของชีวิตประจำวันมากขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง DeepMind บริษัทปัญญาประดิษฐ์เจ้าของ AlphaGo ภายใต้ร่ม Alphabet ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เริ่มเข้ามาให้ความสนใจกับประเด็นนี้อย่างจริงจังและได้จัดตั้งหน่วยวิจัยจริยธรรม AI แล้ว
DeepMind ได้ประกาศถึงการจัดตั้งหน่วยวิจัยจริยธรรม AI นี้ในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาผ่านทางหน้าเว็บไซต์ หน่วยวิจัย DeepMind Ethics & Society นี้มีเป้าประสงค์ในการสนับสนุนให้ตระหนักถึงจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น และช่วยชี้แนะทิศทางในการใช้งานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยในเบื้องต้น DeepMind มุ่งเป้าไปที่ประเด็นทางจริยธรรมหลัก 6 ข้อ ได้แก่
- ความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใส และความยุติธรรม – ส่วนประกอบของระบบปัญญาประดิษฐ์จำนวนมากคือข้อมูล ความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใส และการยุติธรรมของระบบนั้นจึงเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านความมีส่วนร่วมและความเท่าเทียม – AI นั้นอาจเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจเข้ามาแทนที่แรงงานมากมายเช่นกัน สังคมจึงต้องมีความเข้าใจในผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลง และการหารือเรื่องสภาพเศรษฐกิจในอนาคต
- การกำกับดูแลและความน่าเชื่อถือ – ในทำนองเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆทั้งหมด ปัญญาประดิษฐ์ก็ย่อมต้องมีการกำกับดูแลในการใช้งานที่เหมาะสมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
- การจัดการกับความเสี่ยงอันเกิดมาจาก AI โดยเฉพาะการนำไปใช้ในทางที่ผิดและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น – เทคโนโลยีใดๆก็ตามย่อมมีความเสี่ยงหากตกไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ความเข้าใจในความเสี่ยงและปัญหาที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถป้องกันและรับมือกับมันได้ดีขึ้น
- ศีลธรรมและคุณค่าของปัญญาประดิษฐ์ – เมื่อ AI เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ย่อมมีความจำเป็นที่คำแนะนำและการตัดสินใจของมันนั้นจะต้องสอดคล้องกับศีลธรรมและคุณค่าของสังคม โดย DeepMind Ethics & Society จะมุ่งเป้าไปที่การนิยามคุณค่าเหล่านั้น ไปพร้อมๆกับการพัฒนาให้ AI สามารถทำงานสอดคล้องกับพวกมันได้
- ปัญญาประดิษฐ์และการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนบนโลก – AI อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆในโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน ได้อย่างมาก หากมีการมุ่งเป้าในการศึกษาไปที่แง่มุมต่างๆของปัญหาเหล่านั้นมากพอ
การทำงานของ DeepMind Ethics & Society นี้จะได้รับคำแนะนำ วิจารณ์ และตรวจสอบโดยเหล่า Fellows ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระจากทั้งฝ่ายวิชาการ ภาครัฐ และเอกชน และเพื่อความถูกต้อง โปร่งใส และความน่าเชื่อถือของการศึกษาวิจัยในประเด็นจริยธรรม Fellows และ DeepMind ก็ได้ร่วมกันกำหนดหลักการในการทำงานของหน่วยวิจัยไว้คร่าวๆแล้ว
การให้ความสำคัญกับจริยธรรมและผลกระทบต่อสังคมในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของ DeepMind (และ Google) หลังจากมีการก่อตั้งบอร์ดจริยธรรม AI หลังถูกเข้าซื้อโดย Google ในปี 2014
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นได้เดินทางมาถึงจุดที่มันกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว จึงถึงเวลาที่เราต้องหันมาสนใจจริงจังกับการกำกับดูแลให้พวกมันทำงานภายใต้คุณค่าที่สังคมยอมรับ และร่วมกันกำหนดอนาคตของสังคมที่เรากำลังก้าวไปสู่