GE ใช้ AI และ IoT เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วยรถไฟ

0

ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นอุตสาหกรรมรถจักรนั้น การเพิ่มประสิทธิผลการทำงานเพียง 1% อาจหมายถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาล ความเร็วที่เพิ่มขึ้น 1 ไมล์ต่อชั่วโมงอาจหมายถึงมูลค่าของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 2500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการปรับปรุงเวลาการหยุดพัก 1% อาจหมายถึงการลดต้นทุนถึง 2200 ล้านเหรียญ

GE Transportation ผู้ผลิตรถจักรกำลังดีเซลไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือได้เริ่มการผลิตรถจักรสำหรับขนส่งสินค้าที่ถูกติดตั้งด้วยเซ็นเซอร์กว่า 200 ตัว รวมไปถึงกล้องถ่ายภาพระดับ HD ที่คอยส่งข้อมูลและรูปภาพไปยังระบบวิเคราะห์ข้อมูล machine learning เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ real-time บนตัวรถจักรเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ real-time ระหว่างเดินรถ

หนึ่งตัวอย่างของการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวคือการวิเคราะห์ป้ายจราจร ป้ายกำหนดความเร็ว และสภาพของรางรถไฟเบื้องหน้าแบบ real-time ทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์เพื่อหาความเสื่อมสภาพของรางรถไฟที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำงานได้แม่นยำราวร้อยละ 99 ส่งผลให้รถไฟสามารถวิ่งไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งโดยรวมด้วย

ทำนายการซ่อมแซมล่วงหน้า

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการเดินรถคือการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน AI ในการทำนาย”สุขภาพ”ของรถจักร การรู้ล่วงหน้าถึงความเสื่อมสภาพจะช่วยให้ผู้ดำเนินการสามารถทำการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ทันท่วงที หมดห่วงกับปัญหาหัวจักรเสียระหว่างทางที่รังแต่จะสร้างค่าใช้จ่ายและความล่าช้าในการบริการ

ระบบดังกล่าวนั้นจะเป็นในลักษณะเดียวกับที่มีการใช้งานอยู่ที่การรถไฟเยอรมนี (Deutsche Bahn) ซึ่งช่วยลดความล้มเหลวของรถจักรได้ถึงร้อยละ 25

วางแผนการทำงานผ่านข้อมูล

การมีข้อมูลอยู่ในมือนั้นนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ดำเนินการรถไฟแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลการเดินรถ สภาพอากาศ และสภาพการจราจรทำให้สามารถทำนายได้ว่ารถไฟจะมาถึงในช่วงเวลาใด ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ที่ต้องใช้ของที่ถูกส่งมากับรถไฟ สามารถวางแผนในการทำงานได้ว่าควรจะจัดสรรแรงงาน อุปกรณ์​ รถบรรทุกอย่างไรให้เหมาะสม

รถไฟบังคับทางไกลและรถไฟขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รถไฟบังคับทางไกลนั้นเข้ามาช่วยผู้ดำเนินการให้สามารถทำงานที่เดิมต้องใช้แรงงานหลายคนได้ในคนเดียว โดยผู้ใช้จะทำการบังคับรถไฟผ่านอุปกรณ์รีโมตคอนโทรลเพื่อเคลื่อนที่หัวจักรไปข้างหนัาหรือหลังในความเร็วที่กำหนด

ส่วนรถไฟขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นมีการดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่อันห่างไกลซึ่งมีการเดินรถไฟในทางที่ซ้ำๆและไม่มีสิ่งกีดขวางมากนัก และการดำเนินการในชุมทางขนส่งใหญ่ๆก็อาจตามมาในอนาคต แต่ระบบยังต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายส่วน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้วย

อนาคตของการขนส่งด้วยรถจักร

การพัฒนาของรถยนต์ โดยเฉพาะรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้นนับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งด้วยรถจักร โดยจุดเด่นของพวกมันคืออายุการใช้งานที่สั้นกว่ารถจักรมาก (ประมาณ 3 ปีต่อ 30 ปี) อายุการใช้งานที่สั้นกว่านี้ทำให้รถบรรทุกขนส่งสามารถอัพเดทเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งในปัจจุบันก็มีเกณฑ์กำกับดูแลที่ออกมาส่งเสริมรถขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวนมาก

คำถามที่อุตสาหกรรมการขนส่งด้วยรถไฟจะต้องตอบให้ได้คือพวกเขาจะตอบโต้กับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในคำตอบนั้นอาจเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เร็วกว่าคู่แข่งก็เป็นได้