พาไปรู้จัก Donora จัดการคลังเลือดด้วย IoT ผู้ชนะ SME Thailand Inno Awards 2016

0

ทุกท่านคงคุ้นเคยกันดีกับการประกาศขอรับบริจาคเลือดกรุ๊ปต่างๆเมื่อมีอุบัติเหตุหรือผู้ป่วยที่ต้องการผ่าน LINE group และหลายๆท่านเองก็คงเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยบริจาคเลือดกันมาอยู่บ้าง เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าในเมื่อรอบๆตัวดูเหมือนจะมีผู้บริจาคเลือดอยู่มากมาย แต่ปัญหาเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการก็ยังมีให้เห็นกันเป็นประจำ แท้จริงแล้วต้นเหตุของปัญหานี้อาจไม่ใช่จำนวนผู้บริจาคที่น้อยเกินไปอย่างที่หลายคนอาจคิด

ปัญหาปริมาณโลหิตไม่เพียงพอนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้บริจาค สาเหตุเหล่านั้นก็มีตั้งแต่การที่เลือดส่วนหนึ่งในธนาคารเลือดไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ การที่เลือดไม่เหมาะสมกับผู้รับบริจาค ไปจนถึงการกระจุกตัวของการบริจาคเลือดในบางพื้นที่ที่ทำให้เลือดไปไม่ถึงจุดที่มีความต้องการจริง ซึ่งกรณีทั้งหลายนี้ก็เนื่องมาจากการขาดการจัดการที่ดีนั่นเอง

ทีมงานจากบริษัท บริษัท OneTwoGold InterGroup ที่นำโดย อ. ดำรง สังวาลรัตน์จึงเกิดไอเดียในการพัฒนาระบบจัดการเลือดครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการบริจาคไปจนถึงการนำเลือดไปใช้ขึ้นมาเป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยการรวมแนวคิดของเทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้แก่ ระบบลูกค้าสัมพันธ์ (CRM), IoT, การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิค data mining, และระบบการทำ CSR ขององค์กร ประกอบกันขึ้นมาเป็น Donora ธนาคารเลือดอัจฉริยะซึ่งได้รับรางวัลการประกวด SME Thailand Innovation Awards ประจำปี 2016 ไปในปีที่ผ่านมา

ระบบของ Donora นั้นประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ 4 ส่วนด้วยกัน

1. ระบบการจัดกิจกรรม CSR ด้วยการบริจาคโลหิตสำหรับองค์​กรผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

ระบบดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างผู้รับบริจาค เช่นโรงพยาบาล กับองค์กรที่ต้องการทำ CSR ด้วยการบริจาคโลหิต โดยตัวระบบจะทำหน้าที่จัดการตารางนัดหมาย ช่วยให้องค์กรสามารถนัดโรงพยาบาลมารับการบริจาคได้อย่างสะดวกไม่สับสน

2. แอพพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับผู้บริจาค

แอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนของ Donora นี้เป็นเสมือนระบบ CRM ที่คอยเก็บข้อมูลของผู้บริจาคโลหิต โดยแอพดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้บริจาคแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข่าว การนัดหมายบริจาคเลือด และการแจ้งระยะเวลาที่เหมาะสมในการบริจาคหรือการแจ้งขอรับบริจาคกับผู้บริจาคโดยตรงในกรณีเลือดกรุ๊ปนั้นๆมีความต้องการมากเป็นพิเศษ

3. ระบบทะเบียนผู้บริจาคโลหิตสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับบริจาค

ทราบหรือไม่ว่าการเขียนข้อมูลผู้บริจาคด้วยลายมือนั้นเมื่อเกิดความคาดเคลื่อนหรือกำกวม จะทำให้เลือดทั้งถุงนั้นไม่สามารถใช้งานได้ทันทีด้วยสาเหตุทางด้านความปลอดภัย และนอกจากจะทำให้ผู้รับบริจาคเสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองเวลาของผู้บริจาคอย่างน่าเสียดาย (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแต่ละครั้งสูงถึง 800-1000 บาท และพบกรณีดังกล่าวราว 2% ในการบริจาคทั้งหมด)

Donora จึงใช้ระบบประวัติที่มีการบันทึกผ่านคอมพิวเตอร์ไปยังระบบ cloud ซึ่งช่วยให้การขึ้นทะเบียนการบริจาคเป็นไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังสามารถเรียกข้อมูลของผู้บริจาคขึ้นผ่านระบบประวัติโดยง่าย เช่นการเรียกข้อมูลเพื่อคัดกรองไม่ให้ผู้บริจาคที่โลหิตมีปัญหามาบริจาคซ้ำ เป็นต้น

4. ระบบบริหารคลังเลือดด้วยเทคโนโลยี IoT

คลังเลือดนั้นคือระบบที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ความจำเป็นในการเก็บรักษาเลือดที่อุณหภูมิ 1 ถึง 6 องศาเซลเซียส การแยกแยะตามหมู่เลือด การจัดการกับเลือดที่ถูกจัดเก็บมานานเกินกำหนด นี่เป็นบางส่วนของปัจจัยที่ธนาคารเลือดต้องควบคุมอยู่ตลอดเวลา

การติด RFID กับถุงเลือดและการขึ้นทะเบียนเลือดแต่ละถุงในระบบนั้นทำให้ระบบสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาถึงตำแหน่งที่วางและวันหมดอายุ โดยระบบสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ได้ทันทีหากเลือดถูกวางไว้ผิดที่หรือเลือดกำลังจะหมดอายุในไม่ใช้ ในทำนองเดียวกันภายในคลังเลือดของระบบ Donora ยังได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิที่สามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หากมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมกับการเก็บเลือด

การออกแบบระบบบริจาคเลือดที่ครบวงจรเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรบริจาคเลือดได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องประสานงานกันเองอีกรอบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ องค์กร หรือผู้บริจาค จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันระบบ Donora นี้ได้มีการใช้งานจริงแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัด คือโรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งมีการขอรับบริจาคเลือดจากหน่วยงานโดยรอบ เช่น ค่ายทหาร เป็นต้น

ในอนาคต ทางทีมงานมีแผนการที่จะขยายการใช้งานไปในพื้นที่และโรงพยาบาลอื่นๆอีกรวมไปถึงแผนการในการพัฒนาระบบให้รองรับการบริจาคเลือดสำหรับสัตว์เลี้ยงที่อาจมีขั้นตอนที่แตกต่างออกไปอีกด้วย

การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆนั้นในบางครั้งก็คือการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาผสานกันเพื่อแก้โจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบที่ดีมาก่อน ระบบเช่น Donora นี้สามารถประหยัดทั้งต้นทุน เวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการตรวจสอบดูได้เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือไปกว่านั้นคือ มันเป็นระบบที่อาจมีส่วนในการช่วยชีวิตผู้คน ซึ่งเป็นผลที่ไม่อาจประเมินค่าได้

นอกจาก Donora แล้วทาง OneTwoGold InterGroup ยังมีโปรเจคที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น การใช้ IoT เพื่อการทำ smart farming และ smart warehouse, การพัฒนาอุปกรณ์และแพลตฟอร์มเก็บข้อมูล IoT, การเก็บฐานข้อมูลสุขภาพจิตของทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถเข้าไปรับชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.12gold.net หรือติดต่อทางอีเมล์ [email protected]