นักวิจัยชาวญี่ปุ่นเผยผลงานปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจจับมะเร็งลำไส้ในเวลาอันรวดเร็วน้อยกว่า 1 วินาที ในงาน United European Gastroenterology Week ในเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ผลงานวิจัยที่นำโดย Dr Yuichi Mori จากมหาวิทยาลัย Showa ในเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น สร้างระบบที่ทำการจำแนกองค์ประกอบราว 300 ชนิดของภาพขยาย 500 เท่าของติ่งเนื้องอกในลำไส้ที่ได้จากการส่องกล้องที่จะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งได้ทำการเรียนรู้ลักษณะของต่ิงเนื้องอกจากภาพตัวอย่างกว่า 30,000 ภาพ ส่งผลให้ระบบสามารถทำนายได้ว่าติ่งเนื้อเยื่อนี้เข้าข่ายเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ในเวลาต่ำกว่า 1 วินาที
จากการทดลองใช้งานในกลุ่มตัวอย่างชายหญิง 250 รายผู้ซึ่งตรวจพบเนื้องอกในลำไส้ พบว่าระบบปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถทำนายว่าเนื้องอกเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ รวมกว่า 306 ชิ้นในเวลา real-time ด้วย sensitivity (true positive rate) ร้อยละ 94, specificity (true negative rate) ร้อยละ 79, และความแม่นยำโดยรวมร้อยละ 86
“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของระบบนี้คือการที่มันใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยภาพติ่งเนื้องอกในลำไส้ด้วยความเร็วแบบ real-time โดยไม่ขึ้นอยู่กับทักษะของช่างส่องกล้องแต่อย่างใด นั่นทำให้เราสามารถตัดชิ้นเนื้อร้ายออกไปได้ทันที และป้องกันไม่ให้เราต้องตัดเนื้องอกที่ไม่มีอันตรายทิ้งโดยไม่จำเป็น” Dr Yuichi Mori กล่าว
ระบบดังกล่าวในปัจจุบันนั้นอยู่ในขั้นตอนการทดลองที่ได้ขยายผลไปให้กว้างกว่าเดิม อีกทั้งทีมงานยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบให้สามารถวินิจฉัยภาพได้โดยอัตโนมัติ โดย Dr Mori หัวหน้างานวิจัยนี้เชื่อว่าระบบที่สมบูรณ์จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้และป้องกันความตายจากมะเร็งได้มากขึ้นในอนาคต