เราคงคุ้นเคยกันดีกับผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Alexa, หรือ Google Assistant ที่ทำงานด้วยการรับคำสั่งเสียงภาษาธรรมชาติในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ช่วยในลักษณะเดียวกันนี้ในบริบทของการทำงานยังมีไม่มากนัก และ Cisco Spark Assistant ก็เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะตัวแรกของโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือการทำงานในห้องประชุมโดยเฉพาะ
การไปประชุมสายเพราะหาห้องไม่เจอ เชื่อมต่อกับการประชุมออนไลน์ไม่ได้ หรือการเผลอลืมจดบันทึกประเด็นที่สำคัญในที่ประชุม นี่เป็นเพียงสามปัญหาจากปัญหาหลากหลายที่คนทำงานต่างก็ต้องเจอ Cisco จึงออกแบบ Spark Assistant ขึ้นมาเป็น conversational AI ที่จัดการกับปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ โดยตัวระบบทำงานด้วยการรับคำสั่งเสียงที่เป็นประโยคภาษาธรรมชาติ นำคำสั่งเหล่านั้นไปประมวลผลทำความเข้าใจ ก่อนจะลงมือตอบโต้ด้วย action ที่เหมาะสม
ระบบประมวลผลที่เป็นผลพวงมาจากการเข้าซื้อ MindMeld เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ในปัจจุบันสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจบการประชุม มันจะช่วยให้การเริ่ม เข้าร่วม หรือออกจากการประชุมง่ายขึ้น ช่วยติดต่อคนในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถทำตัวเสมือนแผงควบคุมของอุปกรณ์ Cisco Spark ภายในองค์กรได้อีกด้วย
Cisco จะเริ่มปล่อยระบบดังกล่าวให้กับองค์กรผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Cisco Spark Room Series และพาร์ทเนอร์ของบริษัทตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป โดยมีแผนจะนำกระแสตอบรับเข้ามาปรับปรุงระบบให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และใช้งานง่าย อย่างต่อเนื่อง
และสำหรับในอนาคตนั้นแน่นอนว่า Cisco มีแผนการที่จะพัฒนาให้ Spark Assistant นี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเลยทีเดียว ซึ่งแผนการที่ว่าก็มีตั้งแต่การพัฒนาระบบให้จัดการจองห้องประชุมได้ เป็นผู้ช่วยเชื่อมต่ออุปกรณ์ของสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมไปยังหน้าจอกลาง หรือจัดการไวท์บอร์ด อัดวิดีโอและจดบันทึกระหว่างการประชุม ไปจนถึงค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังถูกหารือ
หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก Cisco ได้ออกมาเขียนบทความถึง 5 ระดับของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในที่ประชุม ที่มีระดับชั้นที่สูงที่สุดเป็นระบบที่สามารถรวบรวมและประมวลผลข้อมูลภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาเป็นบทวิเคราะห์เชิงลึกให้กับการประชุมได้ มาในวันนี้ ดูเหมือนว่าทั้ง 5 ระดับที่อยู่ในบทความนั้นจะเป็นโครงร่างในใจในการพัฒนา Spark Assistant นี่เอง
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเข้ามาช่วยจัดการกับการประชุมได้มากน้อยเพียงใด และจะจัดการกับองค์กรที่มีโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ต่างกันได้มีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องของอนาคตที่ในวันนี้มีผู้ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อค้นหาคำตอบแล้ว