สมองของมนุษย์นับเป็นหนึ่งในปริศนาอันยิ่งใหญ่ที่สุดของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และแม้การศึกษาเซลล์สมองที่ตายแล้วจะให้ความรู้แก่มนุษยชาติมาแล้วไม่น้อย ช่องว่างที่ยังมีอยู่คือการศึกษาเซลล์ที่ยังไม่ตายและปฏิกริยาต่างๆของมัน แต่การหาสมองที่ยังไม่ตายมาศึกษานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ นักวิจัยจาก Allen Institute for Brain Science จึงคิดค้นวิธีสร้างแบบจำลองเซลล์สมองขึ้นมาจากของเหลือในการผ่าตัด
ในการผ่าตัดสมองแต่ละครั้งนั้น แพทย์ผู้ผ่าตัดย่อมต้องมีการผ่าลงไปจนถึงจุดที่มีปัญหา ทำให้เนื้อเยื่อสมองที่มีสุขภาพดีต้องถูกตัดออกในฐานะสิ่งกีดขวาง เมื่อถูกตัดออกมา เนื้อเยื่อเหล่านี้จึงกลายเป็นของเสียจากการผ่าตัดที่รอเวลาเผาทำลายทิ้งเท่านั้น ทั้งๆที่ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร
นักวิจัยจาก Allen Institute of Brain Science เล็งเห็นโอกาสในการใช้ของเสียจากการผ่าตัดเหล่านั้น จึงทำข้อตกลงกับศัลยแพทย์ใน Seattle ให้เก็บเนื้อเยื่อ”ของเสีย”เหล่านี้มาให้พวกเขาภายใต้ความยินยอมจากผู้ป่วย เนื้อเยื่อที่พวกเขาได้รับนั้นในบางครั้งเป็นเนื้อเยื่อสดใหม่ที่เคยอยู่ในสมองของมนุษย์มาไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า และการศึกษาลักษณะ และคุณสมบัติทางไฟฟ้าของเซลล์ประสาทในเนื้อเยื่อเหล่านั้นก็ทำให้นักวิจัยสามารถสามารถโมเดล 3D จำลองรูปลักษณ์และพฤติกรรมของพวกมันได้
โมเดล 3D ดังกล่าวนั้นถูกเปิดให้สาธารณะรับชมที่เว็บไซต์ Allen Cell Types Database ซึ่งประกับไปด้วยโมเดลจำลองจากผู้ป่วย 36 รายกว่า 100 รูปแบบที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมของเซลล์ประสาทกว่า 300 ชนิดในสมองชั้นนอก โดยในลำดับต่อไป ทางสถาบันได้เตรียมที่จะเผยแพร่ข้อมูลจากยีนที่ได้จากการศึกษาเซลล์สมองกว่า 16,000 เซลล์ของผู้ป่วย 3 รายต่อไป
การสร้างแบบจำลองเซลล์สมองของมนุษย์นั้นอาจดูเหมือนก้าวเล็กๆในภารกิจอันยิ่งใหญ่ของศึกษาสมองมนุษย์เท่านั้น แต่การเปิดให้ใครก็ตามที่มีอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงโมเดลที่ซับซ้อนและข้อมูลเหล่านั้นได้ก็นับเป็นความพยายามก้าวสำคัญของวงการวิจัยสมอง ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามยากๆ เช่น การรักษาโรคร้าย เช่น โรคอัลไซเมอร์ และการเข้าใจกลไกการแก่ตัวของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น