นักวิทยาศาสตร์พบ ทารกวัยเพียง 6 เดือนก็รู้จักความน่าจะเป็นแล้ว

0

การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่อาจเกิด ความเสี่ยง ผลดี ผลเสีย นั้นเป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนขาดไม่ได้ในการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน เรารู้จักแนวคิดนี้จากในห้องเรียนภายใต้ชื่อ”ความน่าจะเป็น” ทว่าล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่าการประเมินความน่าจะเป็นนี้อาจเป็นสิ่งติดตัวกับมนุษย์มาก่อนที่เราจะรู้จักชื่อของมันเสียอีก

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Max Planck Institute for Human Cognitive and Brain Sciences (MPI CBS) ในเมืองไลป์ซิฟ ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน ทำการทดลองกับเด็กทารกวัย 6, 12, และ 18 เดือน 75 คน ด้วยการเปิดภาพยนตร์สั้นที่แสดงภาพการไหลของลูกบอลไปยัง 2 ถัง โดยลูกบอลสีฟ้าซึ่งมีจำนวนมากกว่าส่วนใหญ่แล้วจะไหลไปยังถังแรก ในขณะที่ลูกบอลสีเหลืองที่มีจำนวนน้อยกว่ามากโดยส่วนใหญ่จะไหลไปรวมกันในถังที่สอง

ภาพยนตร์สั้นที่แสดงภาพการไหลของลูกบอล 2 สี (Photo: Max Planck Institute fur Human Cognitive and Brain Sciences)

ในการทดลองดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสังเกตทารกอย่างใกล้ชิดด้วยการติดตามทิศทางของการมอง พวกเขาพบว่าทารกทุกวัยในการทดลองนั้นมักใช้เวลาในการมองไปที่ถังในเหตุการณ์ที่ลูกบอลสีเหลืองถูกส่งลงมายาวนานกว่ากรณีของลูกบอลสีฟ้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความน่าจะเป็นสูงกว่า โดยพวกเขาให้คำอธิบายว่าการจ้องมองที่ยาวนานกว่านั้นอาจหมายถึงการที่เด็กๆรู้สึกประหลาดใจกับเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้น้อยที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้นั้นมีงานวิจัยหลายงานที่ออกมาทดลองความสามารถในการคะเนความน่าจะเป็นในทารกในทำนองเดียวกันอยู่บ้าง แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้เป็นงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าระดับความน่าจะเป็นที่แตกต่างกันก็ทำให้พฤติกรรมของทารกแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น เมื่อปรับให้มีอัตราส่วนเป็นลูกบอลสีฟ้า 9 ลูก ต่อลูกบอลสีเหลือง 1 ลูก พบว่าทารกใช้เวลาในการมองไปที่ถังลูกบอลสีฟ้ามากกว่า ในขณะที่ผลการทดลองข้างต้นมีความน่าจะเป็นที่ลูกบอลสีฟ้าจะตกลงมามากกว่าลูกบอลสีเหลืองถึง 625 เท่า

งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ทารกวัยอย่างน้อยที่สุด 6 เดือนนั้นรู้จักแนวคิดของความน่าจะเป็น และความสามารถในการคะเนความน่าจะเป็นของทารกนั้นก็ขึ้นอยู่กับความยากในการแยกแยะระหว่างเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นและเหตุการณ์ที่เป็นไปได้น้อยว่าจะเกิดขึ้น