Internet of Things นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและมีการนำมาใช้งานในธุรกิจอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าโปรเจค IoT ส่วนใหญ่กลับไปไม่ได้ไกลตามความคาดหวัง เพราะมี 2 อุปสรรคใหญ่ที่ธุรกิจอาจมองไม่เห็น ซึ่งก็คือการขาดประสบการณ์และการรักษาความปลอดภัยของระบบ IoT ที่ดี
ขาดประสบการณ์?
Adoption rate ที่สูงของ IoT นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มีอุปกรณ์หรือโซลูชั่น IoT พร้อมติดตั้งและใช้งานมากมายให้เลือกสรรตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจ แต่ผลิตภัณฑ์ IoT ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานหรือแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะนี้อาจกลายมาเป็นดาบสองคมที่ทำให้กว่าร้อยละ 75 ของโครงการ IoT ล้มเหลว (อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ Kevin Bloch – CTO ของ Cisco Australia)
การซื้อโซลูชั่นที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางใหม่ๆ เช่น การจัดการกับระบบหลอดไฟ ที่สามารถใช้งานได้เลยนั้นอาจทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT ได้อย่างรวดเร็ว แต่ความสนุกนั้นจะหมดลงเมื่อวันหนึ่งคุณพบว่าโซลูชั่นทุกตัวที่กำลังใช้งานอยู่นั้นทำงานด้วย protocol ที่ต่างกัน ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ และการผสานพวกมันเข้ามาเป็นระบบเดียวกันนั้นซับซ้อนและมีต้นทุนสูง
ดังนั้นในการตัดสินใจเลือกใช้โซลูชั่น IoT ธุรกิจควรคำนึงถึงโครงสร้าง IT พื้นฐานที่มีอยู่ โซลูชั่นอื่นๆที่กำลังใช้ รวมไปถึงปัจจัยด้านการบำรุงรักษาระบบในระยะยาว ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในธุรกิจทุกภาคส่วน และเป็นปัญหาหลักที่ Cisco พยายามแก้ด้วยการพัฒนา IoT Phase 2 ซึ่งมีส่วนประกอบหนึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการทำงานของอุปกรณ์ IoT, แอปพลิเคชัน, และการส่งผ่านข้อมูลที่หลากหลาย
ความปลอดภัย
ปัญหาความปลอดภัยด้านไซเบอร์นั้นทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยล่าสุดคาดว่าอาจมีผลกระทบต่อ GDP ของโลกถึงร้อยละ 1 และการมาของเทคโนโลยี Internet of Things ที่เกิดจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลนั้นก็หมายถึงหนทางในการเจาะระบบอีกจำนวนมหาศาล
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าความปลอดภัยจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการพัฒนาโปรเจค IoT ขึ้นมาใช้งานจริงในธุรกิจ ความหลากหลายของอุปกรณ์ในระบบ IoT ที่บางชนิดไม่มีความสามารถในการป้องกันตัวเองและจำนวนอันมากมายของอุปกรณ์ในระบบทำให้การรักษาความปลอดภัยของระบบ IoT นั้นต้องการทั้งการรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย การประมวลผลที่ดีขึ้น และระบบจัดการอุปกรณ์และการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากกว่าเดิม
ความปลอดภัยของเครือข่าย IoT จึงเป็นประเด็นที่ผู้นำด้านเทคโนโลยีมุ่งความสนใจในการพัฒนา รวมไปถึง Cisco ที่มีการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐในการพัฒนาโซลูชั่นความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเครือข่าย IoT ที่เป็นการผสานเทคโนโลยีที่ Cisco มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ได้แก่ การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อจัดการเครือข่ายและการเข้าถึงระบบ (software-defined networking and access) การจำลองฟังก์ชั่นเครือข่าย (network function virtualisation) การเปิดให้เข้าถึงความสามารถต่างๆผ่าน API และ Intelligent WAN