เรื่องน่ารู้ของ Sophia พลเมืองหุ่นยนต์ตัวแรกของโลก

0

25 ตุลาคม 2017 ประเทศซาอุดิอารเบียประกาศให้ Sophia หุ่นยนต์สาวผู้มีใบหน้าถอดแบบมาจากดาราภาพยนตร์ชื่อดัง Audrey Hepburn มีสถานะเป็นพลเมืองอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของโลก แต่ Sophia นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร?​ กลไกเบื้องหลังของเจ้าหล่อนนั้นมีอะไรบ้าง? เชิญพบคำตอบได้ในบทความนี้

เรื่องราวเริ่มต้นที่ David Hanson และบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ Hanson Robotics ที่เขาได้ทำการก่อตั้งขึ้น ประสบการณ์ในการทำงานเป็นประติมากรและนักสร้างภาพยนต์ที่ Disney สร้างแรงบันดาลใจให้เขาวาดฝันถึงภาพหุ่นยนต์ 4 มิติที่ออกแบบโดยมีแนวคิดทางศิลปะเป็นแกนกลาง เขาเริ่มศึกษาศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ศิลปะ ศาสตร์แห่งการรับรู้ของสมอง เพื่อบูรณาการณ์ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ตามฝัน

หนึ่งในผลผลิตจากความมุ่งมั่นของเขาก็คือ Sophia หุ่นยนต์สาวที่ถอดแบบโครงหน้ามาจาก Audrey Hepburn ที่มีการเปิดใช้งานระบบเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2015 ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง และมีผลงานอย่างการออกรายการตามช่องโทรทัศน์ บทสัมภาษณ์กับสื่อ ถ่ายแบบลงปกนิตยสาร หรือแม้แต่การขึ้นพูดกับสหรัฐประชาชาติ

David Hanson บรรยายถึงความสามารถของ Sophia ว่า เจ้าหล่อนนั้นเป็นหุ่นยนต์สัตว์สังคมที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการมองผู้คน ทำความเข้าใจกับบทสนทนา และสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ Sophia สามารถปล่อยมุกตลก แสดงสีหน้าตามอารมณ์ที่ควรจะเป็น และเข้าใจสถานการณ์รอบๆตัวมันได้ดี ตามที่มันได้แสดงให้เห็นแล้วในการไปออกรายการกับ Jimmy Fallon

“สมอง”ของ Sophia นั้นประกอบไปด้วยการผสมรวมระหว่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบที่ทำให้เจ้าหุ่นตัวนี้สามารถเลือกแสดงสีหน้าได้เหมาะสมกับบทสนทนา ซอฟต์แวร์ chatbot ที่ใช้ในการโต้ตอบกับมนุษย์ และระบบประมวลผลอื่นๆที่ทำให้หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมและตอบคำถามง่ายๆ เช่น “ประตูนี้กำลังเปิดอยู่หรือไม่” ได้ โดย Hanson นั้นได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีเองส่วนหนึ่ง เช่น ซอฟต์แวร์”ความฉลาด” ภายใต้ SingularityNET และหยิบยืมอีกส่วนหนึ่ง เช่น ระบบประมวลผลเสียงพูด จาก Alphabet (Google)

แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ได้กล่าวไปนั้นแทบไม่มีอะไรแปลกใหม่น่าประทับใจนัก และการโต้ตอบบทสนทนานั้นเป็นเพียงความสามารถในการเลือกคำตอบที่เหมาะสมโดยไม่ต้องอาศัยความเข้าใจในคำถามแต่อย่างใด การทำงานในปัจจุบันของ Sophia นั้นอาจเป็นแค่ Siri ที่มีหน้าตา แต่การรวบรวมระบบทั้งหลายนี้มาไว้ด้วยกันนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย

“ผมคิดว่าผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Sophia คือการมีองค์ประกอบเหมือนมนุษย์หลายๆส่วนมาทำงานอยู่ร่วมกัน” Andrew Spielberg นักศึกษาปริญญาเอกจาก MIT ให้ความเห็น “ตามทฤษฎีแล้ว ระบบของขา ใบหน้า และความสามารถในการตอบคำถาม ทั้งหมดนี่รวมกันนั้นย่อมน่าสนใจกว่าแต่ละระบบแยก”

การก้าวเข้ามาเป็นพลเมืองของ Sophia ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อและผู้คนทั่วโลก ทว่าสิ่งที่ตามมาเช่นกันคือเสียงวิจารณ์ ผู้คนมากมายในหน้าสื่อและโลกออนไลน์ต่างก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของการเป็นพลเมือง ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่อาจถูกลดทอนคุณค่า สิทธิหุ่นยนต์ และโครงสร้างสังคมที่อาจกำลังเปลี่ยนแปลง

ในขณะเดียวกันในแวดวงวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเอง Sophia ก็สร้างความแคลงใจไม่น้อย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของ Sophia ที่ถูกนำเสนอในฐานะของพลเมืองหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดและความรู้ตัว (consciousness) เกือบจะทัดเทียมมนุษย์หรือมี Artificial General Intelligence ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ยังไม่เคยเฉียดเข้าใกล้ในการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับกล่าวว่า Sophia นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งกระแสเห่อปัญญาประดิษฐ์ในยุคนี้เลยทีเดียว

และไม่ว่าเป้าหมายของ Hanson ในการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ชีวิต แสดงอารมณ์ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และห่วงใย”เพื่อน”มนุษย์จะเป็นอย่างไร หุ่นยนต์สาว Sophia นี้ก็ได้กลายมาเป็นภาพจำลองของโลกอนาคตที่หุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้เราระลึกได้ว่า ยังมีคำถามและประเด็นอีกมากมายนักที่มนุษย์จำเป็นต้องหารือ ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง