งานทรัพยากรบุคคลนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งขององค์กรที่เทคโนโลยีเริ่มแทรกซึมเข้ามาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีที่น่าสนใจในปี 2017 นี้มีอะไรบ้าง? HR Technologist ชวนไปดูเทรนด์กันที่เวทีสตาร์ทอัพในงาน UNLEASH งานสัมมนาเทคโนโลยี HR ระดับโลกที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
1. การสร้างและจัดการ workflow โดยอัตโนมัติ
ขั้นตอนการดำเนินงานของ HR นั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับองค์กร แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นงานที่ยุ่งยากและน่าเบื่อ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีพนักงานคนใหม่เข้ามาในองค์กร ทีม HR ย่อมต้องตระเตรียมเอกสารและความพร้อมในหลายๆด้าน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่องค์กรวางไว้ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่องค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องประสบทั้งสิ้น
การทำ workflow อัตโนมัติที่มีการแจ้งเตือนและเครื่องมือในการจัดการขั้นตอนจะช่วยให้ขั้นตอนเหล่านี้มีความชัดเจน ง่ายต่อการจัดการ และประหยัดเวลาในการทำเอกสาร การใช้เครื่องมืออัตโนมัติของสตาร์ทอัพเช่น Enboarder ที่สร้างระบบเข้าร่วมงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยให้ทีม HR สามารถโฟกัสไปที่การสื่อสารกับพนักงานได้มากขึ้น แทนที่จะต้องเสียเวลามากมายไปกับการจัดการขั้นตอน
2. ระบบค้นหาและรับผู้ร่วมงานที่ชาญฉลาด
การรับพนักงานเข้ามาเพิ่ม หรือ recruitment ดูเหมือนจะเป็นแง่มุมของ HR ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสตาร์ทอัพทั้งหลาย เห็นได้จากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาประชันกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Vercida เครื่องมือที่ช่วยองค์กรสร้างความหลากหลายให้กับพนักงาน ด้วยการเปิดช่องทางให้ชนกลุ่มน้อย(ทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม หรือเพศ)ได้มีพื้นที่ในการติดต่อกับบริษัทโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่รับสมัครงานแบบปกติที่สามารถค้นหาได้ตามประสบการณ์ หรือที่อยู่ของผู้สมัครแล้ว บริษัทผู้สนใจยังสามารถค้นได้ถึงคุณสมบัติอื่นๆที่จะมาตอบสนองเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย (diversity) อีกด้วย
3. การวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นตอนอันซับซ้อน เช่น payroll
งาน HR นั้นก็คล้ายกับงานอื่นๆที่การวิเคราะห์ข้อมูลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากในไม่กี่ปีให้หลัง และก็คล้ายงานอื่นๆเช่นกัน ที่เป้าหมายของการใช้ข้อมูลก็เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น สตาร์ทอัพ Payzaar พัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำการวิเคราะห์ผู้ให้บริการบัญชีเงินเดือนทั่วโลก และนำมาจัดแสดงให้องค์กรพิจารณาถึงบริการที่เหมาะสมกับรูปแบบเงินเดือนขององค์กรมากที่สุด รวมไปถึงการสร้าง dashboard ที่องค์กรสามารถเข้ามาตรวจสอบสถิติต่างๆได้ เช่น งบประมาณของเงินเดือนนั้นถูกใช้จ่ายไปอย่างไร และ องค์กรได้ ROI ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่
4. การทำนายด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (predictive analytics)
Predictive analytics นั้นมีชื่อเสียงในการค้นพบแพทเทิร์นที่มนุษย์เพียงลำพังอาจไม่สามารถมองเห็นได้ และเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่นการตรวจเช็ค CV จำนวนมากที่ผู้สมัครงานส่งเข้ามา เครื่องมือเช่น VCV จะทำการสกรีน CV ทั้งหมดที่ถูกส่งเข้ามาในระบบ และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ job description ที่ถูกตั้งไว้เพื่อหาผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด
เมื่อ VCV ได้ผู้สมัครที่เหมาะสมมาจำนวนหนึ่งแล้ว VCV จะทำการติดต่อกับผู้สมัครเหล่านั้นเพื่อทำการสัมภาษณ์ทางวิดีโอโดยอัตโนมัติด้วยคำถามที่ถูกกำหนดไว้ โดยจะใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าและ predictive analytics เพื่อประเมินคะแนนให้กับผู้สมัคร ที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจของ HR หลังการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ
5. ก้าวไปอีกขั้นระบบ recruitment ปัญญาประดิษฐ์
อาจเป็นความฝันของทีม HR หลายๆทีมหากวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยในการรับพนักงานใหม่ได้ตั้งแต่การลงประกาศ การเข้าไปติดต่อกับคนที่เป็นเป้าหมาย การสกรีนใบสมัคร สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ ก่อนจะส่งต่อให้ทีม HR เป็นผู้ตัดสินใจรับหรือไม่รับ ในวันนี้เรายังไม่มีระบบที่ทำงานได้ในระดับนั้น…แต่ก็ใกล้แล้ว
Robot Vera ผู้ชนะในเวทีสตาร์ทอัพของงาน Unleash ในครั้งนี้เป็นเจ้าของระบบ recruitment ที่แทบจะปลดภาระของทีม HR ออกทั้งหมด ด้วยความสามารถในการค้นหาผู้สมัครที่น่าสนใจผ่านเว็บไซต์หางานต่างๆ ก่อนที่จะทำการติดต่อและส่งรายละเอียดงานไปให้ และหากผู้สมัครสนใจ เจ้า Robot Vera ก็สามารถช่วยจัดการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอให้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในฝั่งขององค์กรเอง Vera ยังมีการวัดผลการทำงานของตัวเอง เช่น ประสิทธิภาพ และการลดค่าใช้จ่าย ทำให้องค์กรสามารถเห็นได้ชัดเจนถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้บริการอัตโนมัติของมัน