JPMorgan Chase และ Samsung ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ IBM สร้างแอพบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม

0

Daimler Ag, JPMorgan Chase, และ Samsung จะเป็นบริษัทกลุ่มแรกที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในโครงการ Q Network ของ IBM ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทในโครงการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมของ IBM ได้

โครงการ Q Network นี้เป็นความพยายามของ IBM เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีควอนตัมในธุรกิจ หลังจากที่ IBM ได้ประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งกับการโปรโมทเทคโนโลยีควอนตัมในแวดวงวิชาการและวิทยาศาสตร์ บริษัทที่เข้าร่วมใน Q Network นี้จะสามารถเข้าใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 20 คิวบิทผ่านระบบ cloud ในปัจจุบัน รวมไปถึงเครือข่ายวิศวกรควอนตัมของ IBM ซึ่งในอนาคตทาง IBM ก็จะเปิดให้ใช้คอมพิวเตอร์ควอนตันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามการพัฒนา

เป้าประสงค์ของ IBM ในการจัดตั้งโครงการนี้คือการสนับสนุนให้เกิดแอปพลิเคชันที่มีความได้เปรียบทางธุรกิจเนื่องมาจากการใช้ควอนตัมแทนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปซิลิคอนทั่วไป ซึ่ง IBM ก็หวังว่าจะประสบความสำเร็จในเป้าหมายดังกล่าวในปี 2020 แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีควอนตัมจะเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่มากอยู่ก็ตาม

แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทพาร์ทเนอร์อย่าง JPMorgan Chase ก็ยังไม่ได้มีความคาดหวังที่สูงในระดับเดียวกับ IBM เสียทีเดียว โดย Robert Stolte ผู้อำนวยการของ J.P. Morgan Corporate and Investment Bank กล่าวว่าในตอนนี้นั้น “ความสำเร็จ”ในโครงการนี้สำหรับ JPMorgan Chase อาจยังไม่ใช่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม แต่เป็นการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวว่าจะนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

แอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมอาจทำให้การดำเนินการของสถาบันการเงิน เช่น การปรับราคา หรือการประเมินความเสี่ยง สามารถทำงานได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา แต่แน่นอนว่าก่อนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ควอนตัมได้เต็มที่ สถาบันการเงินย่อมต้องมีความเข้าใจอันดีต่อเทคโนโลยีดังกล่าวก่อน

นอกจาก Daimler Ag, JPMorgan Chase, และ Samsung ที่ได้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว ก็ยังมีบริษัทอื่นๆที่ได้เข้าเป็นสมาชิกของโครงการ Q Network นี้ ได้แก่ Barclays, Hitachi Metals, Honda, JSR Corporation, และ Nagase ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังมีความหลากหลายในรูปแบบธุรกิจด้วย

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมของ IBM ที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ทดลองใช้นี้ปัจจุบันช่วยให้เกิดงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการถึง 35 ชิ้น และยังมีการทำการทดลองผ่านคอมพิวเตอร์ควอนตัม 1.7 ล้านครั้ง โดยผู้ใช้ 60,000 ราย และล่าสุดทาง IBM ก็ได้มีการทดทดลองตัวต้นแบบของคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 50 คิวบิทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว