MIT เผยผลการศึกษาคนขับ Lyft, Uber – Gig Economy อาจไม่ดีอย่างที่คิด?

0

ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม (CEEPR) เผยผลการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของแอปพลิเคชัน ride-sharing ชื่อดังอย่าง Uber และ Lyft พบว่าการทำงานในระบบ gig economy นั้น มีค่าตอบแทน “ต่ำมาก” และมีผลเสียต่อการเก็บภาษีของรัฐ

งานวิจัยหัวข้อ The Economics of Ride-Hailing: Driver Revenue, Expenses and Taxes นี้ทำการสำรวจคนขับรถที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์ม Lyft หรือ Uber จำนวน 1,100 ราย โดยศึกษาไปถึงปัจจัยต่างๆที่จำเป็นในการขับรถในระบบ เช่น น้ำมัน ประกันรถยนต์ ค่าบำรุงรักษารถ เพื่อเก็บสถิติและหาค่าเฉลี่ยของรายได้คนขับ

จากการศึกษา พบว่ากำไรของคนขับจากการทำงานนั้นอยู่ในระดับที่”ต่ำมาก” โดยค่ามัธยฐาน (median – จุดกึ่งกลางที่แบ่งครึ่งชุดข้อมูล) ของรายรับต่อชั่วโมงอยู่ที่เพียง 3.37 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 105 บาท) ซึ่งกว่าร้อยละ 74 ของคนขับนั้นได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำในรัฐที่ดำเนินการเสียอีก และหากนับเป็นค่าใช้จ่ายต่อไมล์ คนขับในตำแหน่งมัธยฐานจะทำรายได้ราว 0.59 เหรียญ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อไมล์นั้นอยู่ที่ 0.30 เหรียญ จึงอาจไม่น่าแปลกใจนักที่คนขับเกือบร้อยละ 30 ในการสำรวจครั้งนี้นั้นขาดทุนในทุกๆไมล์ที่พวกเขาขับ

นอกจากในส่วนของคนขับแล้ว งานวิจัยฉบับนี้ยังเจาะลึกไปถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า คนขับส่วนใหญ่ของ Uber และ Lyft นั้น ไม่มีส่วนร่วมในการจ่ายภาษี เนื่องมาจากรายจ่ายต่อไมล์นั้นมีอัตราอยู่ที่ 0.30 เหรียญ ในขณะที่ Standard Mileage Deduction ของกฎหมายสหรัฐกำหนดให้ผู้ประกอบการขับรถรับส่งที่มีรายจ่ายต่อไมล์ต่ำกว่า 0.54 เหรียญ (อัตราของปี 2016) ได้รับการยกเว้นภาษี

โดยหากค่าเฉลี่ยรายได้ 661 เหรียญต่อเดือนจากการวิจัยนี้สะท้อนถึงรายได้ของคนขับทั่วสหรัฐจริง แปลว่ารายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐของคนขับรถในระบบ ride-hailing ต่างๆทั่วสหรัฐนั้นไม่ได้ถูกส่งเข้าไปในระบบภาษีแต่อย่างใด

งานวิจัยฉบับดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อธุรกิจแพลตฟอร์ม ride-hailing ที่ผลักภาระค่าใช้จ่ายแบบ fixed-cost เช่น การซื้อรถยนต์ ประกัน และค่าบำรุงรักษารถไปที่พนักงานผู้ให้บริการ ในขณะที่แพลตฟอร์มที่เป็นคนกลางสามารถขึ้นราคาค่า commission หรือปรับลดราคาเพื่อแข่งขันกับธุรกิจอื่นได้เรื่อยๆ ทำให้คนขับจำเป็นต้องต่อสู้กับ fixed cost ที่มีอยู่ด้วยการทำงานมากขึ้น

Gig economy นั้นเป็นที่กล่าวถึงว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่เข้ามาปั่นป่วน (disrupt) ธุรกิจในรูปแบบเดิมๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทว่าจากการดำเนินการของธุรกิจ gig economy เช่น ride-hailing มาจวบจนปัจจุบัน เราก็ได้เห็นกันคร่าวๆแล้วว่าแนวคิดดังกล่าวมีปัญหาในตัวมันเองอยู่

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ทำการยกเลิกใบอนุญาตการดำเนินการของ Uber โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัยและสภาพการทำงาน ซึ่ง Mark Tluszcz ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Mangrove Capital Partners บริษัทลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นการยกเลิกที่สะท้อนถึงทัศนคติที่สหภาพยุโรปมีต่อโมเดลธุรกิจ gig economy ซึ่งเป็น”ความขัดแย้งด้านวัฒนธรรม ระหว่างคุณค่าด้านความเท่าเทียมกันของยุโรป และคุณค่าด้านตลาดทุนนิยมของอเมริกัน”

“คนขับแท็กซี่ในสหราชอาณาจักรไม่ใช่เศรษฐี พวกเขามีเพียงรายได้พอตัวเท่านั้น แต่การมีรายได้ที่พอตัวนั้นก็หมายถึงว่ามันมีจุดเหมาะสมของราคาในการให้บริการที่ทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคยังสูงอยู่ (price point) และในทุกๆอุตสาหกรรมคุณก็มีจุดนั้น จุดที่[บริการมี]ราคายุติธรรมและทำให้คุณยังทำงานในอุตสาหกรรมได้ … และมันชัดเจนว่าตอนนี้ในธุรกิจ ride-sharing คุณไม่มีจุดๆนั้น” Tluszcz กล่าว

“เรากำลังสร้างผู้คนเจอเนเรชั่นใหม่ที่ไม่มีเงินเพียงพอในการดำรงชีวิต และบริษัท[ride-hailing]เหล่านั้นก็กำลังส่งเสริมการเกิดของเจเนอเรชั่นนั้นอยู่ภายใต้การบอกว่าพวกเขากำลังมอบบริการที่ราคาถูกลงให้กับลูกค้า … และผมไม่คิดว่ายุโรปจะยอมให้เกิดอะไรแบบนั้น”

อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Uber ได้ให้ความคิดเห็นต่องานวิจัยดังกล่าวตาคำขอของสำนักข่าว The Guardian ว่าทางบริษัทเชื่อว่าขั้นตอนการวิจัยและผลลัพธ์ของงานวิจัยดังกล่าวนั้น”มีข้อผิดพลาดอย่างลึกซึ้ง” โดยพวกเขาได้ทำการติดต่อผู้เขียนงานวิจัยฉบับดังกล่าวเพื่อแจ้งถึงข้อกังวลและเสนอแนะวิธีที่พวกเขาจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อหาขั้นตอนวิธีที่ดีขึ้น

ในขณะเดียวกัน โฆษกของ Lyft ก็ได้ส่งถ้อยแถลงต่องานวิจัยดังกล่าวไปยัง Tech Crunch ซึ่งใจความตอนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขายังไม่ได้รีวิวงานศึกษาดังกล่าวอย่างละเอียด แต่ในการรีวิวเบื้องต้น พบว่าสมมติฐานของงานวิจัยบางข้อนั้นยังคงน่ากังขา