จากรายงานการสำรวจของ IDC และ Microsoft เป็นที่คาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ร้อยละ 40 ของ GDP ประเทศไทยจะมีที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัล ซึ่งในวันนี้ กว่าร้อยละ 82 ขององค์กรในประเทศไทยในการสำรวจได้เริ่มเดินหน้าในแผนการ digital transformation แล้ว แต่ในจำนวนธุรกิจเหล่านั้น มีเพียงร้อยละ 7 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำในการปฏิรูปดิจิทัล แต่อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้ตาม?
“ผู้นำ” ได้รับประโยชน์จาก digital transformation มากกว่าถึง 2 เท่า
กลุ่มผู้นำในการปฏิรูปดิจิทัลนั้นคือกลุ่มองค์กรที่มีกลยุทธ์การปฏิรูปดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้วในปัจจุบัน และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 องค์กรในกลุ่มนี้นั้นได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรับประสิทธิภาพการดำเนินการด้านต่างๆให้ดีขึ้นได้ถึงร้อยละ 20 ถึง 30 ทำให้กลุ่มผู้นำนี้ได้รับประโยชน์จากการทำ digital transformation เป็น 2 เท่าของกลุ่มผู้ตาม ซึ่งในอนาคต ช่องว่างนี้ก็จะทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อแตกต่างระหว่าง “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม”
ในปัจจุบัน digital transformation นั้นไม่ใช่ทางเลือกเสียแล้ว หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่มีความจำเป็นต่อการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ และในการปฏิรูปดิจิทัลเองนั้น องค์กรทั้งหลายย่อมต้องการพัฒนาขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้นำเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน รายงานการวิจัยของ Microsoft และ IDC เผยถึงข้อแตกต่างหลักๆ 5 ข้อระหว่างองค์กรผู้นำและผู้ตามในการทำ digital transformation ดังนี้
1. องค์กรผู้นำจะให้ความสนใจกับคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีลักษณะ disruptive
นอกจากการเกิดขึ้นของคู่แข่งทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆในยุคแห่ง digital economy แล้ว ทุกวันนี้ธุรกิจยังต้องจับตามองเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาปั่นป่วนแผนธุรกิจที่พวกเขามีอยู่แล้วด้วย องค์กรผู้นำนั้นมักกล้าเสี่ยงไปกับอะไรใหม่ๆ และมีกลยุทธ์แบบ fail-fast ที่ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
2. องค์กรผู้นำมุ่งเน้นไปที่ความรวดเร็วในการทำธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม
องค์กรผู้นำและผู้ตามในการปฏิรูปดิจิทัลนั้นมีมุมมองที่แตกต่างกันในการรับมือกับคู่แข่งทางธุรกิจ ในการแข่งขันในตลาด องค์กรผู้นำจะเน้นไปที่การสร้างวัฒนที่สนับสนุนความคล่องตัวในการทำงานและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆโดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆขึ้นมาตอบโต้กับคู่แข่ง ในขณะที่กลุ่มผู้ตามมักจะเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและการเพิ่มศักยภาพในการทำกำไร
3. องค์กรผู้นำมีการวัดผลการปฏิรูปดิจิทัลที่เหมาะสม
การปฏิรูปดิจิทัลนั้นเป็นขั้นตอนใหม่ที่ต้องการการวัดผลรูปแบบใหม่โดยสิ้นเชิง องค์กรผู้นำจะมีการตั้งเป้าหมายในการทำ digital transformation ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร และมี KPI ณุปแบบใหม่ๆ เช่น ประสิทธิภาพของระบบงาน การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ
4. องค์กรในกลุ่มผู้นำรับรู้และเข้าใจในอุปสรรคของการทำ digital transformation เป็นอย่างดี
นอกจากการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และปัญหาด้านความปลอดภัยไซเบอร์แล้ว องค์กรผู้นำจะตระหนักดีถึงความความท้าทายในการจัดเก็บและนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
5. องค์กรผู้นำสนใจจะลงทุนในเทคโนโลยี AI และ IoT
ในปี 2018 นี้ องค์กรในกลุ่มผู้นำต่างมุ่งความสนใจไปที่การลงทุนในเทคโนโลยีที่กำลังเกิด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และ Internet of Things ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้แล้ว พวกเขายังแสดงความสนใจในการลงทุนในเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล big data เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจมากกว่าองค์กรอื่นๆ