อะไรคือสิ่งที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เรียนรู้จากสุนัข? ดูค่อนข้างมากเลยทีเดียว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) และสถาบันอัลเลนสำหรับด้านปัญญาประดิษฐ์ (Allen Institute for AI) โดยพวกเขาได้เทรนระบบโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ในการแปลตีความและทำนายพฤติกรรมของสุนัข โดยผลของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ สามารถที่จะให้แหล่งข้อมูลใหม่ในการนำมาเป็นข้อมูลเพื่อใช้เทรนระบบ AI ได้ อีกทั้งรวมถึงการนำไปใช้ควบคุมหุ่นยนต์ได้ด้วย
ในการฝึกฝนระบบ AI ให้คิดเหมือนกับสุนัขนั้น สิ่งแรกที่นักวิจัยต้องทำคือข้อมูลที่ใช้เทรน โดยพวกเขาเก็บข้อมูลในรูปแบบของวีดีโอและข้อมูลการเคลื่อนไหว (motion capture) ที่ตรวจจับจากสุนัขตัวหนึ่งพันธุ์มาลามิวท์ (Malamute) ชื่อ Kelp โดยใช้กล้อง GoPro ในการเก็บข้อมูล 380 วีดีโอสั้นๆ ที่ติดอยู่บนหัวสุนัข ควบคู่ไปกับข้อมูลการเคลื่อนไหวจากเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ตรงขาและลำตัว โดยหลักการคือ Kelp ถูกบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ Hollywood ใช้บันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของนักแสดงสำหรับสร้าง CGI หากแต่แทนที่จะทำเหมือนกับคุณ Andy Serkis ในการทำให้กอลลัมดูมีชีวิตจริง พวกเขาเพียงแค่เก็บข้อมูลของสุนัขตัวนี้ในการใช้ชีวิตทั่วไปในแต่ละวันเท่านั้น เช่น การเดิน การเล่น การไปที่ลานจอดรถ
ด้วข้อมูลที่มีอยู่ในมือ นักวิจัยจึงสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของ Kelp โดยใช้ระบบ Deep Learning โดยเทคนิค AI นี้สามารถนำมาแยกแยะรูปแบบ (pattern) จากข้อมูลได้ โดยในกรณีนี้คือหมายถึงการจับคู่ข้อมูลการเคลื่อนไหวของตัว Kelp และข้อมูลภาพ visual จากกล้อง GoPro ที่จำแนกเป็นหลายๆ พฤติกรรมของสุนัข ซึ่งผลในการเทรนระบบโครงข่ายประสาทเทียมด้วยข้อมูลที่ว่านี้จึงทำให้สามารถทำนายได้ในบางสถานการณ์ว่าสุนัขจะทำอะไร ตัวอย่างเช่น ถ้าหากมันเห็นบางคนโยนลูกบอล ระบบจะรู้ได้ถึงปฏิกิริยาตอบสนองของสุนัขว่ามันจะกลับตัวและไปตามลูกบอลนั้นๆ
คุณ Kiana Ehsani ผู้เขียนหลักในงานวิจัยได้อธิบายว่าความสามารถของระบบ AI ในการทำนายนั้นมีความถูกต้องสูงหากแต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น หรืออธิบายในอีกมุมหนึ่ง คือถ้าหากวีดีโอแสดงให้เห็นบันไดจำนวนหนึ่ง คุณก็จะสามารถทำนายได้ว่าสุนัขก็จะไปปีนมัน แต่ในชีวิตจริงนั้นมีความหลากหลายมากกว่าที่จะสามารถทำนายได้ง่ายๆ “ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรืออะไรพอเห็นของเล่นหรือวัตถุอย่างหนึ่งก็อาจจะต้องการติดตามไล่ล่าก็ได้” คุณ Kiana Ehsani กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ฉลาดจริงๆ คือสิ่งที่นักวิจัยได้ทำต่อยอด คือการใช้งานระบบโครงข่ายประสาทเทียมที่เทรนจากข้อมูลพฤติกรรมสุนัขนั้นๆ โดยพวกเขาต้องการเห็นว่าถ้าหากมันได้เรียนรู้สิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้แทนโดยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกโปรแกรมไว้อย่างชัดเจนนั้นผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งพวกเขาได้อธิบายไว้ในผลงานวิจัยว่าสุนัขนั้น “มีความฉลาดในการมองเห็น รู้จำอาหาร อุปสรรคสิ่งกีดขวาง หรือคนอื่นๆ สัตว์อื่นๆ” ดังนั้นหากใช้ระบบโครงข่ายประสาทเทียมที่ฝึกฝนและทำเสมือนเป็นสุนัขแล้วผลจะเป็นอย่างไร มีความฉลาดแบบเดียวกันหรือไม่
ซึ่งผลออกมาก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถที่ค่อนข้างจำกัด โดยนักวิจัยได้ทำการทดสอบ 2 ครั้งกับระบบโครงข่ายประสาทเทียมในการระบุฉาก (scene) ที่แตกต่างกัน เช่น ในห้อง นอกห้อง บนบันได หรือว่าตรงระเบียง เป็นต้น และพื้นที่ที่สามารถเดินได้ ซึ่งทั้งสองกรณี ระบบโครงข่ายประสาทเทียมนั้นสามารถทำการทดสอบได้อย่างสมบูรณ์ด้วยความแม่นยำที่เหมาะสม โดยการใช้เพียงข้อมูลทั่วไปของการเคลื่อนไหวและสถานที่ของสุนัข
โดยปัจจุบันระบบที่ถูกสร้างโดยคุณ Ehsani และทีมงานนั้นก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมเดลที่เสมือนสมองหรือสติของสุนัข เพราะสิ่งที่ทำนั้นเป็นเพียงการเรียนรู้แค่กฎเกณฑ์เพียงแค่ไม่กี่กฎจากข้อมูลที่จำกัด ซึ่งระบบเพียงแค่หารูปแบบที่มีอยู่ภายในข้อมูลเท่านั้น หากแต่นี่ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างระบบที่เรียนรู้จากสุนัข ซึ่งความจริงก็คือข้อมูลจากสัตว์นั้นอาจเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ที่จะใช้ในการเทรนได้ โดยการที่สุนัขสามารถรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเช่น หน้าตาหรือวัยของคน การหลีกเลี่ยงรถ หรือการมองหาบันได เป็นต้น นั้นจะมีประโยชน์ต่อหุ่นยนต์ได้
Source : https://www.theverge.com/2018/4/14/17234570/artificial-intelligence-dogs-research-science-learning