Facebook ได้ออกมาประกาศถึงการขยายการใช้งานโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงในเนื้อหาข่าว และวิธีอื่นๆ เพื่อรับมือกับการแพร่กระจายข่าวปลอมบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยขยายการตรวจสอบเพิ่มอีก 14 ประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรูปภาพและวีดีโอในอีก 4 ประเทศด้วย
หลังจากที่ทางบริษัทมีข่าวเรื่องบัญชีปลอมจากรัสเซียให้ข้อมูลเท็จแก่ชาวอเมริกันถึง 150 ล้านคน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 Facebook จึงได้เพิ่มความพยายามที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวโดยใช้การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการตรวจสอบโดยใช้คนตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ Facebook ได้ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแหล่งอื่นที่ได้รับการรับรองจาก International Fact-Checking Network (เครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศ) เริ่มใช้งานโปรแกรมตรวจสอบข่าวลวงในเว็บไซต์ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้
ตัวกรองข้อมูลเท็จจริงนี้จะตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ทำให้ Facebook จัดการกับข่าวที่ถูกประเมินว่าเป็นข่าวปลอมได้โดยการไม่ให้มันปรากฏบน News Feed และลดการกระจายข่าวจากเพจต้นตอนั้นๆ
Facebook วางแผนที่จะขยายการใช้งานตรวจสอบข่าวในอีกหลายๆ ประเทศภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าผลจากการตรวจสอบข้อมูลจะช่วยลดการระบาดข่าวปลอมได้โดยเฉลี่ยถึง 80 เปอร์เซ็นต์
การใช้ภาพปลอมหรือภาพที่นำไปสู่การเข้าใจผิดเพื่อจุดชนวนก่อให้เกิดความกลัว ความรังเกียจ และความเกลียดชังต่อกลุ่มคนอื่นๆ นั้นมักเป็นวิธีที่รูปภาพและวีดีถูกนำไปใช้อย่างผิดในโลกออนไลน์ จึงสมควรได้รับการตรวจสอบเช่นกัน โดย Facebook จะเพิ่มการตรวจสอบภาพและวีดีโอในอีก 4 ประเทศ
Facebook กล่าวว่า จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบเรียนรู้ (machine learning) ในการช่วยหาข่าวซ้ำที่ให้ข้อมูลผิดๆ และยังทำงานร่วมกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นที่ใช้ Claim Review ของ Schema.org ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์ค open-source ที่ให้ผู้ตรวจสอบข้อมูลส่งผลการจัดอันดับกับทาง Facebook เพื่อให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติ นอกจากนี้ Facebook จะขยายผลลดการจัดอันดับของข่าวปลอมโดยใช้ระบบเรียนรู้เพื่อลดการทำงานของเพจแปลกๆ ที่หลอกลวงเอาเงินจากคนในประเทศอื่นอีกด้วย