นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาหลายปีในการสร้างเลเซอร์ขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งประดิษฐ์ล่าสุดจาก Berkeley Lab มีบางอย่างที่พิเศษ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการแพทย์ได้ ทีมวิจัยได้พัฒนา “ไมโครเลเซอร์” ที่มีขนาดเล็กกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง
ทีมนักวิจัยค้นพบว่าเม็ดโพลิเมอร์ความกว้างขนาด 5 ไมครอนผสมกับอานุภาคนาโน (โซเดียมอิตเทรียมฟลูออไรด์แช่กับธูเลียม) สามารถปล่อยแสงสว่างเป็นคลื่นความถี่เฉพาะได้เมื่อเจอกับแสงอินฟาเรด การประกอบเข้าด้วยกันนี้ทำให้แสงเด้งไปรอบๆ พื้นผิวภายในของเม็ดโพลิเมอร์ ทำให้เกิดการปะทะกันและยิ่งเร่งแสงมากขึ้น คล้ายๆ กับปรากฏการณ์ห้องสะท้อนเสียง (whispering gallery) ที่ทำให้คุณได้ยินเสียงเบาๆ ข้ามห้องโล่งกว้างได้
ถ้าคุณจุ่มเลเซอร์ขนาดเล็กนี้ลงในเลือด มันจะทำงานต่อเนื่องได้นานอย่างน้อย 5 ชั่วโมง โดยไม่หมดไปง่ายๆ ทีมวิจัยพบว่าเม็ดโพลิเมอร์ที่ไม่ได้ใช้งานมานานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ยังคงทำหน้าที่เป็นเลเซอร์ได้ และหากต้องการจะตั้งค่าเลเซอร์ใหม่ ก็เพียงใช้แสงอินฟราเรดเพื่อกระตุ้นการทำงานอีกครั้งได้
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ยังต้องได้รับการขัดเกลาอีกก่อนนำมาใช้งานจริง นักวิจัยยังคงศึกษาวิธีที่จะกระตุ้นธาตุอนุภาคนาโนและการรวมเข้ากับเม็ดโพลิเมอร์เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดแสงเลเซอร์ที่ได้ Berkeley ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทซึ่งอาจช่วยโรคทางสมองได้ และอาจเป็นประโยชน์สำหรับเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางเคมีและสิ่งแวดล้อม หรือคลื่นใหม่ของชิปออพติคัล อย่างไรก็ดี การนำไปใช้จริงยังอีกห่างไกลหลายปี แต่แน่นอนว่าพลาสติกขนาดจิ๋วนี้ย่อมมีศักยภาพอีกมากให้ค้นหา