นักวิจัย MIT สอน AI ตรวจจับอาการซึมเศร้า

0
https://techcrunch.com/wp-content/uploads/2015/02/facebook-depression.jpg?w=1390&crop=1

เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากกลุ่ม CSAIL ของ MIT สามารถรับรู้ถึงอาการซึมเศร้าได้อย่างค่อนข้างแม่นยำจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความและคำพูดของผู้ป่วย ซึ่งระบบนี้ใช้โมเดลโครงข่ายประสาทเทียมที่วิเคราะห์ข้อมูลดิบทั้งข้อมูลแบบเขียนและเสียงจากการสัมภาษณ์เพื่อศึกษารูปแบบที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงอาการซึมเศร้า

กุญแจสำคัญที่สุดของระบบนี้คือ มันไม่ต้องพึ่งบริบทใดๆ นั่นหมายความว่า ระบบไม่จำเป็นต้องใช้คำถามชี้เฉพาะเจาะจง หรือประเภทของคำตอบ เพียงแค่อาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันเป็นข้อมูลตั้งต้นเท่านั้น แล้วจำแนกคะแนนเพื่อชี้วัดระดับอาการซึมเศร้าของบุคคลนั้นๆ

โดยทั่วไปแล้ว นักบำบัดจะใช้คำถามทดสอบและสังเกตการณ์เพื่อวินิจฉัยภาวะสุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า ดังที่ Tuka Alhanai หนึ่งในทีมนักวิจัยนี้ได้กล่าวว่า “เราเรียกระบบนี้ว่าเป็นระบบ “ไร้บริบท” (context-free) เพราะว่าคุณไม่ได้จำกัดชนิดคำถามที่คุณมองหา และประเภทของคำตอบต่อคำถามเหล่านั้น” นั่นหมายถึง AI นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับนักบำบัดโดยไม่ต้องมีคำถามหรือการสังเกตการณ์แต่อย่างใด

วิธีการทดลองคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสิ้น 142 คน ที่ได้รับการตรวจหาอาการซึมเศร้านั้นต้องตอบชุดคำถามของ AI ซึ่งระบบเองก็ไม่ทราบถึงตัวคำถามมาก่อน และผู้ตอบคำถามก็มีอิสระที่จะให้คำตอบแบบใดก็ได้ตามที่ตนต้องการ ไม่มีตัวเลือก ก ข ค ให้เลือก มีเพียงแค่อาศัยตัวชี้นำทางภาษาศาสตร์เท่านั้น คำตอบของผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับการบันทึกไว้ในรูปแบบของข้อความและเสียง ในรูปแบบข้อความนั้น AI สามารถคาดการณ์อาการซึมเศร้าได้ภายหลังจากผ่านช่วงถามตอบไปเพียง 7 ครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในรูปแบบเสียงนั้น ใช้เพียง 30 ครั้ง ซึ่งผลที่ออกมาโดยเฉลี่ยมีความแม่นยำถึงร้อยละ 77

James Glass ผู้ร่วมวิจัยเสริมว่า “ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีพูดต่างกัน และถ้าโมเดลนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรบางอย่างที่สามารถเป็นผู้ช่วยให้กับผู้ให้การรักษาได้”

แน่นอนว่าการตรวจพบดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของขั้นตอน แต่ระบบนี้อาจจะช่วยให้ผู้บำบัดตัวจริงค้นหาและวิเคราะห์ต้นตอได้โดยอัตโนมัติเมื่อต้องเทียบกับขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ใช้เวลายาวนาน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่เทคโนโลยีมีส่วนช่วยต่อสาขาสุขภาพจิต