Microsoft ชูกลยุทธ์ปี 2019: “AI For Thailand”

0

Microsoft ประเทศไทยเผยกลยุทธ์ปีงบประมาณ 2019 ที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจและองค์กรในประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยไมโครซอฟท์จะเดินหน้าดำเนินทั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รองรับการใช้งานในประเทศไทยมากขึ้น การพัฒนาทักษะแรงงาน และการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ด้วยจริยธรรมที่เหมาะสม

ในปีงบประมาณ 2019 นี้ ไมโครซอฟท์ประเทศไทยแสดงจุดยืนที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจและองค์กรในประเทศไทยได้มีการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กันอย่างกว้างขวางและสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านการใช้งานบริการต่างๆที่มีบนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure เช่น Text to Speech API โดยไมโครซอฟท์เชื่อว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ที่รองรับการทำงานในภาษาไทยนั้นจะช่วยให้องค์กรไทยสามารถนำเครื่องมือต่างๆไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งในแง่ของธุรกิจ การศึกษา การพัฒนาสังคม และอื่นๆ และสามารถช่วยขจัดกำแพงความรู้ในการนำ AI มาประยุกต์กับธุรกิจ ก่อให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย

ในขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ยังให้ความสำคัญกับการเดินหน้าทางนโยบายของ 2 ประเด็นหลักที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็นภัยคุกคามต่อแรงงานปัจจุบัน และประเด็นจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์

ในประเด็นการแย่งงาน ไมโครซอฟท์มองคล้ายกับผู้เชี่ยวชาญหลายรายว่าเทคโนโลยี AI นั้นอาจเข้ามาลดความต้องการงานบางประเภท เช่น การที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มปิดตัวสาขามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน ก็จะมีความต้องการแรงงานที่สามารถทำงานร่วมกับ AI หรือมีทักษะด้าน AI เพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ไมโครซอฟท์ได้เดินหน้าหารือกับกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและผู้เกี่ยวข้องพัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาทักษะทดแทน (re-skill) ให้กับแรงงานที่อาจโดนแทนที่ และในขณะเดียวกัน ก็มีการจัดโครงการอบรมและ workshop อย่างต่อเนื่องเพื่อผลิตนักพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่ตลาด

อีกประเด็นหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ คือประเด็นของจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งไมโครซอฟท์ยึดหลักการ 6 ข้อ ได้แก่ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความครอบคลุมของประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน ความโปร่งใสของระบบ และความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน ซึ่งไมโครซอฟท์ได้เริ่มนำหลักการดังกล่าวร่วมหารือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดกรอบการใช้งานที่เหมาะสม และผลักดันให้เกิดการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนภายในประเทศ​

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจและมีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมากในอนาคตอันใกล้ จึงเป็นการดีที่ประเทศไทยควรมีการเตรียมตัวที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเริ่มประยุกต์ใช้งานมากขึ้นเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ปรับตัวต่อความต้องการในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป และวางกลยุทธ์เพื่อควบคุมมิให้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกใช้ในทางที่ผิดหรือสร้างผลเสียต่อมนุษย์