Gartner เตือน 10 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับ Digital Disruption

0

Digital disruption นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกในปัจจุบันและได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วนกับทั้งธุรกิจ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และสังคม แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นนี้ย่อมมาพร้อมกับความเชื่อและแนวคิดผิดๆหลายข้อ Gartner จึงออกมากล่าวถึง 10 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ digital disruption ดังนี้

1. Disruption เป็นเรื่องไม่ดี

Disruption นั้นไม่ได้มีคุณสมบัติความดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง และในขณะที่ความปั่นป่วนนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจจำนวนหนึ่ง มันก็ก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจและสังคมเช่นกัน ธุรกิจต้องมองให้ออกถึงโอกาสที่มาพร้อมกับ disruption และใช้ประโยชน์จากมันให้ได้

2. Disruption เป็น buzzword ที่ถูกใช้จนเฝือ

จริงอยู่ที่คำว่า disruption นั้นถูกพูดและเขียนถึงจนน่าเบื่อหน่าย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการที่คำๆนี้ถูกพูดถึงมากนั้นก็เพราะมันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมาก disruption ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบและสำคัญต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

3. ทุกการเปลี่ยนแปลงคือ disruption

การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งนั้นอาจไม่ใช่ disruption เสมอไป เพราะ disruption นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากของระบบหรือสภาพแวดล้อม เช่น การเข้ามาของสมาร์ทโฟน หรือ cloud computing ธุรกิจต้องจับหลักให้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งเป็นเพียงกระแสชั่ววูบหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

4. Disruption เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น

หากพูดถึง digital disruption แล้วแน่นอนว่าต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทุกครั้ง แต่ disruption ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะมันคาบเกี่ยวไปสร้างความเปลี่ยนแปลงถึงการดำเนินธุรกิจ สังคมและผู้คน และแนวทางของอุตสาหกรรมด้วย

5. Disruption เป็นเรื่องของยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเท่านั้น

Disruption นั้นอาจเกิดกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Apple, หรือ Google ก่อน แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบอย่างทั่วถึงต่อธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อื่นๆทั่วโลก ธุรกิจควรศึกษาวิธีการรับมือและแนวคิดที่องค์กรใหญ่ๆมีต่อ disruption เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแผนการรับมือให้กับองค์กรของตน

6. Disruption เกิดในตลาด consumer เท่านั้น

เรามักมองเห็น disruption เกิดขึ้นในตลาด consumer ก่อน แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะแพร่กระจายไปยังตลาดและอุตสาหกรรมอื่นๆตามกันไป กระบวนการเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรที่เรียกกันว่า consumerization of IT ซึ่งก็คือการที่เทคโนโลยีปรากฏตัวขึ้นในตลาด consumer ก่อนที่จะค่อยๆแพร่ไปยังภาคธุรกิจหรือรัฐบาลในเวลาต่อมา

7. เทคโนโลยีที่อยู่ในกระแสคือเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิด Disruption

AI, Blockchain, และ VR นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากจากผู้บริโภคและธุรกิจ แต่หากว่ากันจริงๆแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้นั้นยังไม่สุดงอมมากพอที่จะเรียกได้ว่าจะเข้ามา disrupt อย่างแท้จริงได้ disruption ที่แท้จริงนั้นนอกจากจะถูกใช้งานอย่างกว้างขวางแล้ว จะต้องให้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในแบบที่เรียกว่า secondary effect ด้วย ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งไหนคือ disruption ที่แท้จริง

8. Innovation, transformation, และ disruption คือสิ่งเดียวกัน

Innovation (นวัตกรรม) และ transformation (การปฏิรูป) นั้นคือ 2 กระบวนการที่อยู่ในวงจรเดียวกัน และในวงจรนั้น กระบวนการหนึ่งอาจส่งเสริมหรือรบกวนอีกกระบวนการหนึ่งจนเกิดเป็น disruption ขึ้นได้ ซึ่งแปลว่าในการสร้างนวัตกรรมหรือการปฏิรูปแต่ละครั้ง อาจก่อให้เกิด disruption ขึ้นโดยที่ธุรกิจไม่รู้ตัว ธุรกิจจึงควรจับตามองความสัมพันธ์และผลลัพธ์ของทั้ง 2 กระบวนการนี้อย่างใกล้ชิด

9. Disruption เป็นปัญหาไกลตัว

Disruption นั้นส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่เพียงเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลหรือระบบ IT เท่านั้น ทุกส่วนงานขององค์กรจะได้สัมผัสกับความปั่นป่วนทางดิจิทัลและเทคโนโลยีโดยทั่วกันไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

10. เราจะไม่ถูก disrupt

ทุกธุรกิจต่างก็มีความเสี่ยงที่จะถูก disrupt ทั้งนั้น แม้จะเคยเป็นผู้ disrupt คนอื่นมาก่อนก็ตาม Apple ผู้ผลิต iPhone เข้ามาสั่นสะเทือนวงการโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมาก็โดน disrupt โดย Google ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการณ์ android ดังนั้นทุกธุรกิจควรตระหนักถึงความเสี่ยงและมีการวางแผนเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อใช้ประโยชน์จาก disruption ที่จะเข้ามาเรื่อยๆในอนาคต