ตามรายงานของ World Bank ในปี 2017 ราวร้อยละ 30 ของประชากรโลกนั้นไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม unbanked และได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่ายเข้าแก้ปัญหานี้ โดยหนึ่งในวิธีที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย คือการใช้ mobile payment เข้ามาเติมเต็มช่องว่างบริการทางการเงินที่พวกเขาขาดอยู่
ทว่าการใช้ mobile payment นั้นก็ยังคงมีข้อจำกัดในการส่งเงินข้ามระบบ น้อยครั้งนักที่เงินจากบัญชีธนาคารจะสามารถโอนเข้ายังระบบ mobile payment ได้ แม้แต่การส่งเงินข้าม mobile payment ต่างผู้ให้บริการก็ยังเป็นเรื่องยาก ปัญหาการทำงานร่วมกันของบริการทางการเงินนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ Gates Foundation จัดตั้งโครงการ Mojaloop ขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
Mojaloop มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาเชื่อมต่อเครือข่าย payment ให้เชื่อมต่อส่งเงินถึงกันได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าเงินนั้นจะอยู่ในระบบของ mobile payment, บัญชีธนาคาร, หรือรูปแบบอื่นๆก็ตาม
แนวคิดของ Mojaloop คือการเชื่อมต่อผู้ให้บริการต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับผู้คน unbanked โดยประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ระบบกลางที่จะคอยดำเนินการส่งต่อเงินจากผู้ให้บริการหนึ่งไปยังอีกผู้ให้บริการหนึ่ง ที่มีกลไก settlement การรักษาความปลอดภัย และการยืนยันตัวตนของผู้ส่ง และส่วนเชื่อมต่อที่ผู้ให้บริการและสถาบันการเงินสามารถเข้ามาเชื่อมต่อกับ Mojaloop เพื่อให้บริการของตนใช้ร่วมกับบริการของเจ้าอื่นๆได้
ในส่วนของการเชื่อมต่อนั้น Mojaloop มีการพัฒนาระบบขึ้นบนโปรโตคอล Interledger ซึ่งถูกพัฒนาโดย Ripple โดย Interledger นั้นเป็นโปรโตคอล cross-chain ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่าง blockchain, ledger, หรือบริการทางการเงินอื่นๆให้สามารถส่งเงินข้ามระบบได้
Mojaloop มีเทคโนโลยีเบื้องหลังเป็นระบบ settlement และ ledger กลางที่จะคอยดำเนินการส่งต่อเงินจากผู้ให้บริการการเงินดิจิทัลรายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่ง โดยใช้โปรโตคอล Interledger ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรโตคอล cross-chain ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่าง blockchain หรือระบบ ledger อื่นๆเข้าด้วยกันผ่านการใช้ connector ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อเงินระหว่าง 2 ระบบ โดยมีกลไกการรักษาความปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมั่นได้ว่าเงินจะถูกส่งไปถึงผู้รับหรือโดนตีกลับมาเท่านั้น ไม่มีการสูญหายระหว่างทางแน่นอน
แพลตฟอร์ม Mojaloop นั้น มีการเปิดโค้ดเป็น opensource ให้องค์กรการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเงินทั่วไปได้ใช้อย่างอิสระ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มคน unbanked ทั่วโลก
โดยนอกจาก Ripple แล้ว Mojaloop ยังได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dwolla, ModusBox, Software Group, และ Crosslake Technologies ในการออกแบบระบบด้วย
ผู้อ่านท่านใดที่สนใจการทำงาน หรือต้องการศึกษาระบบเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของ Mojaloop หรือ Github