
IBM ได้ออกมาเผยว่า บริษัทได้พัฒนาตัวรับสัญญาณขนาดเล็กที่จะติดไว้บนเล็บมือเพื่อคอยตรวจดูประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาอาการของโรคพาร์กินสันและโรคอื่นๆ
ตัวรับสัญญาณนี้จะทำงานร่วมกันซอฟต์แวร์ที่วิเคราะห์ข้อมูล และวัดค่าความโค้งบิดของเล็บขณะที่ผู้ใช้หยิบจับอะไรบางอย่าง เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหยิบจับวัตถุนั้นได้ให้ข้อมูลจำนวนมากแก่ซอฟต์แวร์เพื่อใช้วิเคราะห์
อีกวิธีหนึ่งที่จะรับข้อมูลดังกล่าวได้ก็คือการติดตัวรับสัญญาณที่ผิวหนังและตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทีมวิจัยเผยว่าตัวรับสัญญาณที่อิงข้อมูลจากผิวหนังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา รวมถึงการติดเชื้อ ดังนั้นทีมวิจัยจึงตัดสินใจนำข้อมูลจากการโค้งงอของเล็บมือแทน

ทั้งนี้ โดยส่วนมากเล็บมือมักไม่ค่อยโค้งงอเท่าไรนัก ดังนั้นตัวรับสัญญาณจึงต้องมีความไวต่อการรับสัญญาณ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าเราจะหยิบจับอะไร หรือขยับเขยื้อนอย่างไร เล็บมือก็จะเปลี่ยนรูปไปเรื่อยโดยที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถวัดค่าได้ในระดับหน่วยไมครอน อย่างเส้นผมมนุษย์โดยทั่วไปก็มีขนาดอยู่ที่ระหว่าง 50 ถึง 100 ไมครอน และเซลล์เม็ดเลือดแดงก็มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน

ในเวอร์ชันปัจจุบันนี้ นักวิจัยยังใช้วิธีติดตัวรับสัญญาณไว้กับเล็บมือ เนื่องจากว่าเล็บมือนั้นมีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง ก็แทบจะไม่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับการติดอุปกรณ์ไว้บนผิวหนัง ตัวรับสัญญาณก็จะสื่อสารกับนาฬิกาอัจฉริยะที่มีโมเดลระบบเรียนรู้ของเครื่องเพื่อตรวจจับอาการสั่นและอาการอื่นๆ ของโรคพาร์กินสัน โดยตัวโมเดลนี้สามารถตรวจจับได้ว่าผู้ใช้กำลังทำอะไร เช่น หมุนลูกบิดประตู ใช้ไขควง เป็นต้น ข้อมูลและโมเดลนี้จึงแม่นยำพอที่จะใช้ติดตามผลได้
ต่อจากนี้ ทีมวิจัยหวังว่าจะสามารถขยายผลการใช้งานชิ้นงานตัวต้นแบบนี้ไว้ใช้วิเคราะห์ข้อมูลสำหรับโรคอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยังไม่เปิดเผยว่าตัวรับสัญญาณนี้จะผลิตออกสู่ตลาดเมื่อไร