งานวิจัยหนึ่งค้นพบว่า เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual reality หรือ VR) สามารถช่วยเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีปัญหาภาวะสมองเสื่อมให้ดีขึ้นได้ด้วยการช่วยกลุ่มผู้ป่วยฟื้นความทรงจำในอดีต ลดความก้าวร้าว และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลได้
ทีมวิจัยจาก University of Kent ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยผู้ป่วยฟื้นความทรงจำเก่าๆ ได้โดยใช้ตัวกระตุ้นที่ผู้ป่วยเองเข้าถึงเองได้ยากหรือเข้าถึงไม่ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ความทรงจำดังกล่าวไม่ได้ให้ผลการกระตุ้นทางจิตใจในเชิงบวกแก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ดูแลเรียนรู้และเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ จะช่วยเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้
Jim Ang ศาสตราจารย์จาก University of Kent เผยว่า “VR มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ครอบครัว และผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย เพราะมันช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมผลลัพธ์เชิงบวกอีกมากมาย”
ในงานวิจัย นักวิจัยได้ทดลองกับผู้ป่วย 8 ราย อายุระหว่าง 41 ถึง 88 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงโรคอัลไซเมอร์และโรคฮันติงตัน (โรคที่เกิดจากการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง/สมอง) ด้วย โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะสวม VR Headset เป็นเวลา 15 นาทีต่อการทดลอง เพื่อเข้าไป “เยี่ยมชม” หนึ่งในสภาพแวดล้อมจำลองทั้งห้า ได้แก่ โบสถ์ ป่า ชายหาดทราย หาดหิน และเขตชนบท ระหว่างการทดลอง ก็จะมีการเก็บข้อมูลจากทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลควบคู่ไปด้วย
ระหว่างการทดลอง ผู้ป่วยก็จะสื่อสารออกมาว่าจะเลือกเหตุการณ์ใดต่อไป บางรายก็อยากสำรวจบรรยากาศอื่น ในขณะที่รายอื่นจะยังสำรวจสภาพแวดล้อมเดินอยู่ซ้ำๆ ผลคือสภาพแวดล้อมบางแห่งกระตุ้นให้เห็นภาพความทรงจำเก่าๆ และเมื่อเล่าให้ผู้ดูแลฟัง ก็จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนทั้งสองกลุ่มด้วย ผู้ป่วยบางรายก็แสดงให้เห็นชื่นชอบประสบการณ์ VR มากเพียงใด ซึ่งส่งผลเชิงบวกทางด้านอารมณ์ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมด้วย
Jim Ang เสริมว่า “หากมีการวิจัยเพิ่มเติม ก็เป็นไปได้ที่จะช่วยประเมินได้ว่าองค์ประกอบใดของสภาพแวดล้อมจำลองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และจะใช้งาน VR ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”