ภาพนักศึกษามหาลัยถูกนำไปใช้ฝึกระบบรู้จำใบหน้าอย่างลับๆ

0

จากข้อมูลของ Colorado Springs Independent และ Financial Times นักวิจัยได้ใช้ภาพของนักศึกษาจำนวนกว่า 7,000 ภาพเพื่อฝึกระบบรู้จำใบหน้า (facial recognition) โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐและหน่วยราชการข่าวกรอง การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวจากการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ว่าจะนำภาพเหล่านั้นไปใช้เพื่อการใด

งานวิจัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2555 และ 2556 มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาว่าอัลกอริธึมสามารถระบุลักษณะใบหน้าจากระยะไกลได้หรือไม่ แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ และอยู่ในที่แสงน้อย กล้องถ่ายระยะไกลถูกติดตั้งในระยะห่างจากพื้นที่ทางเดินสาธารณะประมาณ 150 เมตร ผู้คนที่เดินผ่านบริเวณนั้นมักไม่ได้มองไปยังกล้อง ส่วนใหญ่จะก้มมองมือถืออยู่

หลังจากนักวิจัยได้รวบรวมภาพชุดหนึ่ง ก็สร้างชุดข้อมูลที่เรียกว่า “Unconstrained College Students” เนื่องจากเป็นข้อมูลสุ่มและมีรายละเอียดน้อยกว่าชุดข้อมูลอื่น จึงทำให้นักวิจัยพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถทำงานได้จากระยะไกล ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการทหารที่ช่วยให้เห็นว่าเรือที่กำลังเข้ามาเป็นมิตรหรือศัตรู

Dr. Terrence Boult ศาสตราจารย์ผู้วิจัยงานดังกล่าวเผยว่า การเก็บภาพของคนตามที่สาธารณะนั้นไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และงานวิจัยเองก็ได้รับการอนุมัติจากทางวิทยาลัย โดยจะไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลหรือเผยแพร่ในงานวิจัย ภาพที่บันทึกไว้จะใช้โดยนักวิจัยหลังจากนั้นห้าปี ซึ่งก็เป็นช่วงที่นักศึกษาส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาแล้ว

UCCS

ทั้งนี้ มาตรการอาจยังไม่เพียงพอ เพราะตอนแรกจุดประสงค์ของงานวิจัยนี้คือเพื่อให้นักวิจัยใช้ศึกษา แต่ข้อมูลดังกล่าวถูกดึงนำไปใช้ในบทความของ The Financial Times ที่ระบุวันเวลาของภาพที่ใช้ด้วย ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ดี งานวิจัยก็ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ระบบตรวจจับผู้ร้ายได้ หน้าที่ของนักวิจัยจึงเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการความเป็นส่วนตัวและคุณค่าของงานวิจัยที่มอบสู่สังคม