เมื่อปี 2561 He Jiankui นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนกล่าวว่า เขาใช้เครื่องมือคริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR/Cas9) เพื่อตัดยีน CCR5 ออกไปในตัวอ่อนของทารกแฝดหญิงชื่อ Lulu และ Nana โดย He ตั้งทฤษฎีว่าจะทำให้ทารกที่เกิดมามีภูมิต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี แต่ตอนนี้มีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Medicine ระบุว่า He อาจทำให้อายุขัยของทารกทั้งสองสั้นลง
ตามที่ MIT Technology Review รายงานนั้น นักวิจัยจาก University of California ในเบิร์กลีย์ ได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอและสถิติการเสียชีวิตของอาสาสมัครมากกว่า 400,000 รายใน UK Biobank ซึ่งเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของอังกฤษ เมื่อนักวิจัยจับคู่ดีเอ็นเอกับสถิติการตาย ก็พบว่าคนที่ยีน CCR5 สองตัวไม่ทำงานนั้นเสียชีวิตเร็วกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เหลือถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจเป็นเพราะคนที่มียีน CCR5 กลายพันธุ์ไปมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ หรือ โรคไข้หวัดใหญ่ ตามรายงานแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเช่นนี้เหมือนกรณีที่ He สร้างขึ้นมานั้น ได้ทำให้อายุขัยสั้นลงโดยเฉลี่ย 1.9 ปี
นักวิจัยหวังว่านี่จะเป็นเหมือนข้อควรระวัง เพราะยีน CCR5 ทำหน้าที่หลายอย่างเช่นเดียวกับยีนอื่นๆ ซึ่งบางอย่างเราก็ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ เมื่อต้นปีก็มีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสาร Cell เผยว่า คนที่ขาดยีน CCR5 อาจฟื้นตัวได้เร็วหลังจากโรคหลอดเลือดสมองหรืออาการบาดเจ็บที่สมอง นั่นหมายความว่ายีนมีบทบาทด้านสมองและภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน แต่การดัดแปลงพันธุกรรมก็อาจส่งผลที่ไม่ได้คาดหวังไว้ และผู้ที่คัดค้านต่างก็บอกว่า นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ควรตัดแต่งพันธุกรรมของมนุษย์ อย่างน้อยก็คือยังไม่ถึงเวลา