การเร็นเดอร์ (การคำนวณค่าสีและความสว่าง) และการตัดต่อภาพอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่นักวิจัยจาก MIT และ IBM ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยทีมวิจัยได้ฝึก AI ให้สร้างภาพรูปถ่ายตั้งแต่ต้นและให้ AI ตัดต่อวัตถุในรูปเอง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อศิลปินและนักออกแบบแล้ว ระบบยังให้ข้อมูลเชิงลึกว่า โครงข่ายประสาทเทียมเรียนรู้บริบทได้อย่างไร และทีมวิจัยหวังที่จะใช้ประโยชน์เครื่องมือนี้ในการตรวจจับภาพปลอมหรือภาพที่ผ่านการดัดแปลง
เครื่องมือนี้มีชื่อว่า GANpaint Studio มาในรูปแบบเดโมใช้งานได้ฟรี แทนที่ผู้ใช้งานจะเพิ่มภาพต้นไม้ในรูปเอง ก็สามารถบอกเครื่องมือว่าจะวางวัตถุดังกล่าวนั้นไว้ตรงไหน ระบบก็จะหาวัตถุที่เข้ากับฉากนั้นเอง ผู้ใช้งานยังสามารถลบวัตถุในภาพออกได้อีกด้วย เช่น เก้าอี้นั่งในภาพห้องครัว เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นงานที่กำลังอยู่ในขั้นพัฒนา แต่ทีมวิจัยหวังว่า GANpaint Studio จะตัดต่อคลิปวีดีโอได้สักวัน ยกตัวอย่างเช่น หากในฉากภาพยนตร์นั้นขาดอุปกรณ์ประกอบฉากที่สำคัญ นักตัดต่อก็สามารถใช้ AI เพิ่มวัตถุนั้นเข้าไปได้ในภายหลัง
ขณะที่ทีมวิจัยสร้าง GANpaint Studios ขึ้นมานั้น ก็ได้พบว่า ระบบเรียนรู้กฎง่ายๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ เช่น ประตูไม่เหมาะที่จะอยู่บนท้องฟ้า เนื่องจากว่า GANpaint Studio ใช้ระบบ GAN ซึ่งเป็นโครงข่ายประสาทเทียมที่พัฒนาขึ้นให้แข่งขันกับตัวเอง ดังนั้น ระบบจึงเรียนรู้หลักเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจอย่างเช่น การกันไม่ให้เมฆไปโผล่บนผืนหญ้า ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักวิจัยเข้าใจยิ่งขึ้นถึงวิธีการที่โครงข่ายประสาทเทียมเรียนรู้จากบริบทและสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องทั่วไป
นอกจาก GANpaint Studio จะช่วยสร้างภาพปลอมได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เรียนรู้ที่จะจับผิดภาพดังกล่าวได้อีกด้วยเช่นกัน ซึ่ง Jun-Yan Zhu ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยดังกล่าวได้เผยว่า “คุณจำเป็นต้องรู้จักคู่ตรงข้ามของคุณก่อนที่จะรับมือกับมันได้”