โลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะผู้ใช้งานต้องคอยหลบสปอยล์ แม้ว่าจะระวังอย่างดีแล้วก็ตาม บางทีก็เผลอไปอ่านเจอทวีตหรือข่าวที่มีเนื้อหาของเรื่องเปิดเผยจนทำลายอรรถรสการรับชมซีรีย์หรือภาพยนตร์ แต่ในอีกไม่ช้า AI อาจช่วยตรวจจับสปอยล์และปักธงรีวิวหรือเนื้อหาที่มีการเปิดเผยบางส่วนของเรื่องได้ก่อนที่คุณจะเผลออ่าน
SpoilerNet เป็นผลงานสร้างสรรค์จากทีมวิจัย UC San Diego ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลรีวิวมากกว่าล้านรีวิวจาก Goodreadsชุมชนนักอ่านของ Amazon ที่มีข้อตกลงให้หมายเหตุในรีวิวไว้หากมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในเรื่อง นับเป็นคลังข้อมูลที่ไม่เหมือนที่ใดที่จะมีการแจ้งเตือนและระบุให้ผู้อ่านได้ทราบล่วงหน้าเช่นนี้
ข้อมูลที่ถูกจัดประเภทไว้แล้วมีส่วนช่วยให้ระบบ AI ได้เรียนรู้ถึงคุณสมบัติของเนื้อหาสปอยล์ โดยทีมวิจัยป้อนข้อมูลรีวิวจาก Goodreads 1.3 ล้านรีวิวเข้าสู่ระบบ แล้วปล่อยให้ระบบสังเกตและบันทึกความแตกต่างระหว่างประโยคธรรมดาและประโยคที่มีสปอยล์อยู่ในนั้นด้วย เมื่อระบบผ่านการฝึกมาแล้ว จึงได้ลองให้จัดประเภทประโยคแยกชุดต่างหากเองว่าเป็นสปอยล์หรือไม่ ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำถึง 92 เปอร์เซ็นต์ เพราะระบบไม่ได้ดูแค่ประโยคขึ้นต้นในรีวิว แต่ยังศึกษาความหมายจากบริบทด้วย จึงทำให้ระบบคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำกว่าระบบอื่นๆ ก่อนหน้านี้
วิธีการนี้ยังใหม่และค่อนข้างซับซ้อน จึงอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น โมเดลอาจตราว่าประโยคนั้นมีเนื้อหาสปอยล์หากมีลักษณะประโยคคล้ายๆ สปอยล์อยู่ใกล้ๆ อีกทั้งความเข้าใจประโยคเดี่ยวยังไม่ค่อยดีพอที่จะเข้าใจว่าคำๆ นั้นจะถือว่าเป็นสปอยล์หรือไม่
จากข้อมูลของทีมวิจัย ระบบน่าจะใช้งานแบบเรียลไทม์บนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วไปได้แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาสักพัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะออกมาในรูปแบบปลั๊กอินบนเบราว์เซอร์หรือแอปที่อ่านรีวิวได้ล่วงหน้าและซ่อนข้อความเสี่ยงไว้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ Amazon และวงการที่เกี่ยวข้องที่จะระบุสปอยล์ในรีวิวและเนื้อหาอื่นได้อัตโนมัติ แต่กว่าโมเดลใหม่นี้จะนำไปใช้งานได้ เราก็คงต้องใช้วิธีหลบสปอยล์แบบดั้งเดิมกันไปก่อน นั่นคือ งดการเชื่อมต่อกับโลกสักพักจนกว่าจะได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ