ลองคิดดูว่าแทนที่จะเลือกซื้อรองเท้าคู่โปรดสีใดสีหนึ่ง แต่สามารถซื้อเพียงคู่เดียวและเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์ในแต่ละวัน อาจจะเลือกใส่เป็นลายพิมพ์ม้าลายหรือเปลวเพลิงหลากสีก็ได้ ซึ่งตอนนี้มีหมึกพิมพ์แบบใหม่ PhotoChromeleon Ink พัฒนาโดย Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) ของ MIT ที่สามารถเปลี่ยนสีหรือลวดลายของวัตถุได้เมื่อได้รับแสงยูวี
ทีมวิจัย CSAIL ผสมสีย้อมโฟโตโครมิก (photochromic dye) ที่สามารถปรับเปลี่ยนสีตามสภาวะแสง ใส่ลงในสารละลายที่ใช้สเปรย์ลงบนวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า รถยนต์ เคสโทรศัพท์ และของเล่น วัตถุที่เคลือบแล้วจะถูกนำไปใส่กล่องที่มีฉายโปรเจกเตอร์และแสงยูวี ผู้ใช้งานกำหนดสีหรือลวดลายที่ต้องการลงในโปรแกรมซึ่งใช้แสงยูวีในการเร่งการทำงานของสีต่างๆ สีสามารถคงอยู่ได้ในแสงธรรมชาติ และหากอยากเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบก็สามารถใช้แสงยูวีลบและเริ่มกระบวนการใหม่ได้ สำหรับวัตถุที่มีขนาดเท่ารองเท้าหรือโมเดลรถ ขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 40 นาที
Yuhua Jin ผู้นำวิจัยโครงการนี้กล่าวว่า “สีย้อมชนิดพิเศษนี้จะเพิ่มตัวเลือกการปรับแต่งที่หลากหลายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตและลดขยะด้วย ผู้ใช้สามารถปรับแต่งสิ่งของของตนได้ตามใจชอบโดยไม่จำเป็นต้องซื้อของชิ้นเดียวกันสีหรือสไตล์อื่นหลายๆ ครั้ง”
ทีมวิจัยต่อยอดการผลิตสี PhotoChromeleon Ink (ชื่อมีที่มามาจากลักษณะการเปลี่ยนสีของกิ้งก่าเปลี่ยนสี) จากระบบ ColorMod ซึ่งเป็นวัตถุพิมพ์สามมิติที่เปลี่ยนสีได้ แต่ละพิกเซลจะถูกพิมพ์แยกต่างหาก ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จึงมีความคมชัดต่ำ แต่ละพิกเซลยังมีแค่สองสถานะคือ โปร่งแสงกับสีของมันเอง ดังนั้นรูปแบบสีจึงมีจำกัด เมื่อเทียบกับ PhotoChromeleon Ink แล้ว ภาพที่ได้จะมีความคมชัดสูงและมีหลากหลายสีและลวดลายที่มากกว่า
นักวิจัยยังคงต้องพัฒนาเพื่อปรับปรุงให้สีย้อมสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แต่ Ford ซึ่งสนับสนุนโครงการ CSAIL นี้อยู่ ได้แสดงความสนใจต่อหมึกนี้ โดยบริษัทเล็งเห็นว่าสักวันอาจช่วยลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์