เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า (Facial recognition) ได้ถูกนำมาใช้ในหลายด้าน ตั้งแต่การเฝ้าระวังจากรัฐบาลไปจนถึงการล็อกอินทางช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในประเทศจีน แต่การทดลองใหม่ได้สร้างความไม่แน่ใจถึงความแม่นยำของระบบดังกล่าวจากการหลอกระบบด้วยการให้ผู้ใช้งานสวมหน้ากาก
Kneron บริษัท AI ได้ออกหน้ากากสามมิติคุณภาพสูงที่ปลอมใบหน้าของบุคคลหนึ่งขึ้นมา และทดสอบว่าหากให้คนอื่นมาสวมหน้ากากนี้จะสามารถหลอกระบบได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าผู้สวมหน้ากากสามารถสวมรอยทำธุรกรรมผ่าน AliPay และ WeChat ได้
All it takes to fool facial recognition at airports and border crossings is a printed mask, researchers found https://t.co/42ymWrzYZI #fintech #biometrics pic.twitter.com/n294lfUUmw
— Chris Gledhill (@cgledhill) December 13, 2019
ทีมวิจัยยังทดลองกับระบบที่สนามบินในอัมสเตอร์ดัม โดยใช้เพียงภาพใบหน้าคนสแกนผ่านระบบขึ้นเครื่องด้วยตนเอง อีกทั้งยังหลอกระบบที่สถานีรถไฟในจีนซึ่งเป็นที่ที่นักเดินทางใช้ระบบรู้จำใบหน้าชำระค่าโดยสาร โดยการทดสอบทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและได้รับอนุญาตมาก่อนหน้านี้แล้ว
และนี่ก็ไม่ใช่ความกังวลครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับความแม่นยำของระบบรู้จำใบหน้า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union หรือ ACLU) ออกมาประกาศว่า เทคโนโลยีดังกล่าวระบุตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแคลิฟอร์เนีย 26 รายผิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี อีกรายงานหนึ่งจากสหราชอาณาจักรพบว่า ระบบรู้จำใบหน้าของตำรวจมีอัตราความคลาดเคลื่อนถึง 81 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่าระบบรู้จำใบหน้าบางระบบมีความแม่นยำกว่าระบบอื่น Kneron เคยได้ทดลองหลอก iPhone X แต่ทำไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ระบบอื่นๆ ถูกหลอกได้โดยง่ายและอาจนำไปสู่การฉ้อโกงได้ มีความกังวลที่อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีสวมรอยคนรวยและเข้าถึงข้อมูลธนาคารหรือบัญชีอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ก่อการร้ายอาจหลุดรอดจากมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยระบบรู้จำใบหน้าที่ขาดความแม่นยำได้