Google เริ่มต้นปี 2020 ด้วยการตีพิมพ์งานวิจัยฉบับใหม่ ที่เผยให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการตรวจจับมะเร็งเต้านมจากภาพ X-ray ทรวงอกที่เรียกว่าแมมโมแกรมด้วยความแม่นยำที่สูงกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ และอาจเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจค้นหาเบื้องต้นสำหรับมะเร็งเต้านมได้
งานวิจัย AI เพื่อการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนี้ เป็นโครงการที่ Google เริ่มจัดทำขึ้นร่วมกับ DeepMind, Cancer Research UK Imperial Centre, Northwestern University, และ Royal Surrey Country Hospital ในประเทศสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อทดสอบว่า AI จะสามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยให้นักรังสีวิทยาตรวจจับมะเร็งเต้านมได้แม่นยำมากขึ้นหรือไม่ และในวันปีใหม่ที่ผ่านมา ผลวิจัยเบื้องต้นก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เป็นที่เรียบร้องแล้ว
โมเดลของ AI ดังกล่าวผ่านการเทรนนิ่งด้วยข้อมูลแมมโมแกรมจากสตรีมากกว่า 76,000 รายในสหราชอาณาจักรและ 15,000 รายในสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงถูกนำไปทดสอบกับข้อมูลของผู้หญิงอีกราว 25,000 รายในสหราชอาณาจักรและ 3,000 รายในสหรัฐถึงความแม่นยำ
ผลลัพธ์ที่ได้คือโมเดล AI นี้สามารถลดอัตรา False Positive (ในที่นี้คือกรณีที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ถูกระบุว่าเป็น) จากการประเมินของนักรังสีวิทยา(ของเคสที่เป็นข้อมูล)ลงได้ 5.7% สำหรับข้อมูลจากสหรัฐและ 1.2% สำหรับข้อมูลจากสหราชอาณาจักร ในขณะที่ False Negative ก็ลดลง 9.4% และ 2.7% ตามลำดับ และเมื่อนำผลงานของ AI นี้ไปเปรียบเทียบกับนักรังสีวิทยาผู้เชี่ยวชาญ 6 รายที่ได้วิเคราะห์แมมโมแกรม 500 ชิ้นที่สุ่มขึ้นมา โมเดล AI ก็สามารถทำได้ดีกว่า
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้ทดสอบโมเดลดังกล่าวกับข้อมูลต่างชาติ กล่าวคือนำโมเดลที่ถูกเทรนด้วยข้อมูลจากสหราชอาณาจักรไปทดสอบกับข้อมูลจากสหรัฐ ซึ่งผลปรากฏว่าโมเดลก็สามารถทำงานได้โดยมี False Positive และ False Negative ลดลง แสดงให้เห็นว่าโมเดลนี้สามารถไปประยุกต์ใช้ในระบบการแพทย์ของประเทศอื่นๆทั่วโลกได้โดยไม่สูญเสียความแม่นยำระดับเหนือผู้เชี่ยวชาญมนุษย์แต่อย่างใด
จุดเด่นที่น่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ
- AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นใช้ข้อมูล Input ในการตรวจจับมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญมนุษย์ซึ่งมีทั้งข้อมูลแมมโมแกรมและประวัติการรักษา แต่กลับทำได้ดีกว่า
- ชุดข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามีปริมาณมาก และมีคุณภาพสูง และ
- มีการทดสอบการทำงานจริงร่วมกับขั้นตอนการอ่านแมมโมแกรมแบบ Double Reading ในสหราชอาณาจักร และพบว่าสามารถลดปริมาณงานของผู้อ่านแมมโมแกรมคนที่ 2 ได้ถึง 88%
มะเร็งเต้านมนั้นเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง โดยในสหรัฐผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคนี้มีอัตราส่วนสูงถึง 1 ใน 8 ของประชากรหญิงทั้งหมด และในแต่ละปีจะมีการตรวจหามะเร็งเต้านมรวมกันกว่า 42 ล้านครั้งในสหรัฐและสหราชอาณาจักร
Google เชื่อว่าผลลัพธ์ในเบื้องต้นของงานวิจัยในครั้งนี้นั้นเป็นสัญญาณที่ดีในเส้นทางของการนำ AI เข้ามาใช้ช่วยให้งานตรวจจับมะเร็งในระยะเริ่มต้นนั้นแม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยลดเวลารอและความเครียดของผู้ป่วยได้อีกด้วย