นักวิจัยจาก Google และ the Janelia Research Campus ในเวอร์จิเนียได้เผยแพร่แผนที่ภาพการเชื่อมโยงของสมองในสัตว์ความละเอียดสูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยได้แสดงภาพโมเดลสามมิติที่แกะรอยประสาท 20 ล้านเส้นที่เชื่อมต่อเซลล์ประสาท 25,000 เซลล์ในสมองของแมลงวันผลไม้
โมเดลนี้เป็นอีกขั้นความสำเร็จของศาสตร์คอนเน็คโทมิกส์ (connectomics) ที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบละเอียดในการสร้างแผนผังเส้นประสาทในสมอง ซึ่งแผนที่นี้มีชื่อว่า คอนเน็คโทม (connectome) ครอบคลุมสมองของแมลงวันราว 1 ใน 3 ส่วน จนถึงตอนนี้มีเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวที่มีแผนที่สมองสมบูรณ์ นั่นคือ พยาธิตัวกลม C. elegans
แผนที่สามมิติที่สร้างโดย Google และทีม FlyEM ที่ Janelia นับเป็นความสำเร็จทางเทคนิคอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลของวิธีการอัตโนมัติและแรงงานจากมนุษย์ โดยในขั้นแรก ทีมวิจัยได้ตัดส่วนของสมองแมลงวันเป็นชิ้นบางเฉียบขนาด 20 ไมครอน ความกว้างราว 1 ใน 3 ของผมมนุษย์ จากนั้นจึงถ่ายภาพชิ้นส่วนเหล่านั้นด้วยกระแสอิเล็กตรอนจากกล้องจุลทรรศน์และเย็บกลับเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้ประกอบไปด้วยภาพพิกเซลขนาดสามมิติจำนวน 50 ล้านล้านภาพ ซึ่งถูกนำมาผ่านกระบวนการโดยใช้อัลกอริธึมต่อจุดของแต่ละเซลล์
นอกจากการทำงานของอัลกอริธึมจาก Google แล้ว ยังต้องใช้นักวิจัยตรวจสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ด้วย ซึ่งบริษัทเผยว่าใช้เวลา 2 ปี และเวลานับหลายแสนชั่วโมงในการตรวจสอบแผนที่สามมมิติ พิสูจน์เส้นทางของเส้นประสาททั้ง 20 ล้านแต่ละเส้นโดยใช้อุปกรณ์สวมศีรษะ VR และซอฟต์แวร์ตัดต่อสามมิติ
ถึงกระนั้น ผลที่ได้ครอบคลุมเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสมองแมลงวัน ในสมองแมลงวันมีเซลล์ประสาท 100,000 เซลล์ ในขณะที่เซลล์สมองของมนุษย์มีประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ แน่นอนว่าสมองของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขึ้นก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น จึงต้องใช้เวลาอีกมหาศาลกว่าจะสร้างแผนที่ได้ครบสมบูรณ์
Google และทีม FlyEM ได้เปิดข้อมูลนี้ให้รับชมและดาวน์โหลดได้ ทีมวิจัยยังได้เผยแพร่งานวิจัยระบุถึงวิธีการ และยังกล่าวอีกว่าจะเผยแพร่งานวิจัยลักษณะนี้เพิ่มเติมในอีกไม่กี่สัปดาห์