รู้จัก Generation ‘R’ เจนเนอเรชั่นใหม่ในที่ทำงานหลังจบ COVID-19 ตามทรรศนะของ Oracle

0

สถานที่ทำงานในปัจจุบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าประกอบไปด้วยผู้คนหลายเจเนอเรชั่นซึ่งมีทัศนคติ วิธีการทำงาน คุณค่าที่ยึดถือ และความคิดที่แตกต่างกันในหลายๆด้าน ทว่าการอุบัติขึ้นของโรคระบาด COVID-19 นั้นบีบบังคับให้ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขชีวิตที่คล้ายคลึงและตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน พวกเขาบางส่วนจึงมีการปรับแนวคิด วิธีการทำงาน และอื่นๆซึ่งทำให้ผู้คนต่างรุ่นมีพฤติกรรมไปในทำนองเดียวกันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน Shaakun Khanna หัวหน้าฝ่ายแอปพลิเคชันคลาวด์ HCM แห่ง Oracle JAPAC เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Generation ‘R’

คุณ Khanna กล่าวว่าเจเนอเรชั่น R เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 และได้ปรับแนวคิดและมุมมองต่อโลกเป็นแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง คนกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานต่อความไม่แน่นอน สบายใจที่จะอยู่กับมัน และไม่รู้สึกว่าความไม่แน่นอนนั้นอยู่นอกเหนือความควบคุม โดยคุณ Khanna เชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะร่วมกัน 4 ประการ ได้แก่

  1. พวกเขาเตรียมตัวอยู่ตลอดสำหรับ New normal ในการทำงาน เจเนอเรชั่น R เชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังวิกฤตการณ์คลี่คลาย รู้สึกว่าการทำงานในอนาคตจะมีการแข่งขันสูงขึ้นจนมีผลกระทบต่อเส้นทางอาชีพที่วางไว้ ดังนั้น Generation R จึงพยายามสร้างทักษะใหม่อย่างน้อยหนึ่งอย่างในช่วง Lockdown นี้
  2. พวกเขามี Productivity ที่ดีในการทำงานแบบรีโมต และชอบการทำงานแบบนี้มากกว่า โดยพวกเขาเชื่อว่า Flexible schedule และเทคโนโลยีช่วยพวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่บ้าน
  3. เจเนอเรชั่น R ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างความเป็นมืออาชีพและชีวิตส่วนตัว พวกเขาประสบความสำเร็จในการสร้างขอบเขตและสมดุลที่ดีของทั้งสองส่วน
  4. สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจมากขึ้น การ Lockdown ช่วยให้พวกเขาเห็นผลกระทบของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย พนักงานในองค์กรจำนวนหนึ่งจะกลับไปทำงานด้วยคุณลักษณะ 4 ประการที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นในส่วนขององค์กรเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทัศนคติและการมองโลกในแบบดังกล่าว ซึ่งคุณ Khanna แนะนำวิธีการเตรียมตัวให้กับ HR มา 4 ข้อ ดังนี้

  1. พิจารณาความคล่องตัวของตำแหน่งภายในองค์กรใหม่ – ผู้คนจำนวนมากจะกลับมาพร้อมกับทักษะใหม่ และพวกเขาอยากจะเจอกับความท้าทายใหม่ๆ องค์กรจึงต้องเตรียมพื้นที่สำหรับการเติบโตตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบโปรเจกต์ การสร้างทีมใหม่ หรือการเปิดให้ทดลองหน้าที่ใหม่ๆ
  2. เปลี่ยนการทำงานให้ยืดหยุ่นอย่างแท้จิริง – สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Productivity ในการทำงานแบบรีโมต องค์กรควรสนับสนุนการทำงานแบบดังกล่าวด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีและขั้นตอนที่เหมาะสมที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำงานแบบรีโมตได้ เช่น แพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูง และแอปบนคลาวด์
  3. เสริมความแกร่งให้วัฒนธรรมองค์กร – เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พนักงานจะคาดหวังให้องค์กรมีความเห็นใจและเข้าใจ (Empathy and understanding) มากขึ้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญก็ยังคงเป็นการทำความเข้าใจและความยืดหยุ่นต่อเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ องค์กรยังต้องเตรียมสนับสนุนพนักงานไม่ว่า New normal ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรด้วย
  4. สร้างงานที่มีความหมาย – สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้คนแสวงหาความหมายในการทำงานกันมากขึ้น พนักงานจะคาดหวังให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำในสิ่งที่มีความหมายมากขึ้น และองค์กรที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้นก็อาจเผชิญความยากลำบากในการจ้างงานและจูงใจพนักงานให้อยู่ต่อ