บริการแจ้งเตือนการเกิดน้ำท่วมล่วงหน้าจาก Google ซึ่งใช้ระบบเรียนรู้ระบุพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและแจ้งเตือนผู้ใช้งานก่อนเกิดเหตุนั้น ได้ขยายการใช้งานครอบคลุมพื้นที่ทั่วอินเดียและพื้นที่บางส่วนในบังกลาเทศแล้ว
![Flood forecasting map](https://storage.googleapis.com/gweb-uniblog-publish-prod/images/pasted_image_0_7_raLW0zb.max-1000x1000.png)
Google ออกเครื่องมือนี้มาเมื่อปี 2561 ในเมืองปัฏนาของอินเดีย แต่ค่อย ๆ ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมการใช้งานอย่างช้า ๆ โดยทำงานร่วมกับรัฐท้องถิ่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบบก็ได้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในอินเดีย ซึ่งหมายความว่า ประชากร 200 ล้านคนในอินเดีย และอีก 40 ล้านคนในบังกลาเทศสามารถรับการแจ้งเตือนจากระบบคาดการณ์เหตุอุทกภัยได้แล้ว
นอกเหนือจากการเพิ่มพื้นที่ให้ครอบคลุมแล้ว Google ก็กำลังทดสอบระบบคาดการณ์ให้แม่นยำมากขึ้นและได้อัปเดตว่าการแจ้งเตือนจะปรากฏบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งานอย่างไร จนถึงตอนนี้ Google ได้ส่งการแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้งาน Android ไปแล้วมากกว่า 30 ล้านชุดข้อความ
![flood forecasting alerts.png](https://storage.googleapis.com/gweb-uniblog-publish-prod/images/flood_forecasting_alerts.max-1000x1000.png)
Google มีความสนใจในการแจ้งเตือนเหตุภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉินของชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า และแผ่นดินไหว ซึ่งส่วนใหญ่จัดการผ่านโปรแกรม Public Alerts เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทก็พึ่งออกบริการที่เปลี่ยนอุปกรณ์ Android เป็นเครื่องวัดความสั่นสะเทือนเพื่อตรวจจับการเกิดเหตุแผ่นดินไหวและส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้
ในกรณีของการแจ้งเตือนเหตุน้ำท่วมล่วงหน้านั้น Google ไม่ได้ใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ของผู้ใช้แต่อย่างใด แต่อาศัยข้อมูลในอดีตร่วมกับข้อมูลในปัจจุบันเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ และการจำลองสถานการณ์น้ำท่วม โดยใช้ระบบเรียนรู้สร้างโมเดลการคาดการณ์ใหม่ขึ้นมา
แม้ระบบคาดการณ์จะมีความแม่นยำพอสมควร แต่ปัญหาคือไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนและมีความไม่ไว้ใจต่อการแจ้งเตือนจากเทคโนโลยี เพราะมีการสำรวจพบว่า ประชากรเลือกที่จะได้รับคำเตือนจากผู้นำท้องถิ่น และนิยมรับการแจ้งเตือนผ่านลำโพงและโทรศัพท์มากกว่า
Google จึงพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวและได้เริ่มร่วมมือกับสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) โดยหวังว่าจะให้ข้อมูลการคาดการณ์เหตุน้ำท่วมแก่องค์กรเหล่านี้ที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่ายของตนต่อไปได้