บล็อกเชนนั้นเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ที่ยังคงต้องรอเวลาเติบโตไปถึงวันที่มีการใช้ในวงกว้าง ซึ่งในระหว่างนี้ ก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่ายเพื่อผลักดันให้มีการใช้งานบล็อกเชนมากขึ้น เช่น IBM ที่นอกจากจะสนับสนุนบล็อกเชนเพื่อประสิทธิภาพทางธุรกิจแล้ว ยังชูประโยชน์ในการใช้บล็อกเชนช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย
IBM เป็นบริษัทที่มีพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน และการใช้บล็อกเชนเพื่อช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนของ IBM นั้นก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 เมื่อ IBM จับมือกับ Walmart พัฒนาโซลูชันเพื่อตรวจสอบอาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องถูกเรียกกลับไม่ให้วางจำหน่าย โซลูชันนี้ในภายหลังถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น IBM Food Trust Network ที่หลายแบรนด์ เช่น Dole, Nestle และ Walmart ใช้ในการตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบแหล่งที่มา และจัดการกับ Supply Chain ของอาหาร
จากการสำรวจในปี 2018 โดย Food Insight กว่าร้อยละ 59 ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ผู้คนใส่ใจในแหล่งที่มาและผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระบบที่สามารถบ่งบอกได้ถึงต้นตอและกระบวนการการได้มาของผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง อย่าง IBM Food Trust Network จึงช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็ตอบสนองต่อเป้าประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์เอง
ในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา IBM แถลงถึงการร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่น Covalent ในการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยตรวจสอบ Carbon Impact ของสินค้าในแบรนด์ โดย Covalent นั้นเป็นแบรนด์แฟชั่นที่จำหน่ายเสื้อผ้าที่ผลิตจาก AirCarbon ซึ่งเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นจากจุลินทรีย์ และมีจุดขายหนึ่งอยู่ที่การรับรองโดย Carbon Trust ว่าเสื้อผ้าทุกชิ้นนั้นถูกผลิตขึ้นแบบ Carbon-negative
เพื่อเสริมความมั่นใจเพิ่มขึ้นจากการรับรองของ Carbon Trust – Covalent ได้นำระบบบล็อกเชนเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าของแบรนด์ โดยลูกค้าสามารถใส่หมายเลขที่ติดไปกับสินค้าแต่ละชิ้นเพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตและขนส่งว่ามี Carbon Footprint อย่างไร
นอกจากนี้ ในปี 2017 IBM ยังได้ร่วมกับ Energy-Blockchain Labs เปิดตัวแพลตฟอร์ม Carbon Credit Management ที่จะช่วยองค์กรจัดการกับ Carbon credit ในระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพลตฟอร์มนี้ถูกใช้งานในตลาดคาร์บอนของประเทศจีน
บล็อกเชนของ IBM นั้นถูกพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยี Hyperledger Fabric ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโอเพนซอร์สที่มุ่งเน้นในการพัฒนาบล็อกเชนที่องค์กรสามารถนำไปใช้งานในธุรกิจได้
ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งาน Blockchain เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเท่านั้น เทคโนโลยีบล็อกเชนไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง แต่ก็มีจุดเด่นที่การเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กลไก Smart Contract และการไม่รวมศูนย์ข้อมูลไว้ที่เดียว ที่ช่วยให้เทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้กับงานหลายประเภทได้เป็นอย่างดี