เทคนิคพิมพ์ 3 มิติแบบใหม่ช่วยเร่งการพิมพ์อวัยวะพร้อมใช้เพียงไม่ถึงชั่วโมง

0

ในการพิมพ์อวัยวะสามมิตินั้น หากผลิตออกมาช้าเกินไป อาจทำลายเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ แต่ในเร็ว ๆ นี้น่าจะมีวิธีที่เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อทีมนักวิจัยจาก The University at Buffalo ได้พัฒนาเทคนิคพิมพ์สามมิติที่เร็วกว่าวิธีมาตรฐานถึง 10 – 50 เท่า

จากรูปด้านบน เป็นภาพมือสังเคราะห์พิมพ์สามมิติ โดยปกติแล้วจะใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในการพิมพ์ขึ้นมา แต่วิธีใหม่นี้ใช้เวลาเพียง 19 นาทีเท่านั้น ซึ่งเพียงพอต่อการลดการเสียรูปและความเสียหายของเซลล์จากการต้องรอการพิมพ์แบบเดิม

วิธีการพิมพ์รูปแบบใหม่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบถาดเรซิ่น (stereolithography) กับไฮโดรเจล ทีมวิจัยใช้โพลิเมอร์ชนิดไวแสงในการขึ้นรูปชิ้นงาน (photopolymerization) เพื่อให้สารไฮโดรเจลขึ้นรูปพิมพ์มาได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุด คล้ายกับการปูถนนใหม่ก่อนที่จะขับไปบนถนนใหม่นั้น

ผลลัพธ์ยังจำกัดอยู่ที่การใช้พิมพ์โมเดลขนาดเพียงเซนติเทตร แต่ก็เหมาะสมเพียงพอต่อการพิมพ์เซลล์ที่มีโครงข่ายหลอดเลือดในตัว ในอนาคตอาจนำไปใช้งานเพื่อผลิตอวัยวะเทียมขนาดเท่าของมนุษย์และนำไปใช้งานได้จริง และโรงพยาบาลก็อาจไม่จำเป็นต้องรอการบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายมากนัก