เปิดโลก “VR เครื่องมือเพื่อธุรกิจ” และทิศทางแนวโน้มตลาด VR กับสตาร์ทอัพไทย Blue Ocean Technology

0

หากกล่าวถึงเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Virtual Reality หรือ VR แล้ว หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงการสวมอุปกรณ์ VR Headset เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือการรับชมภาพยนตร์ แต่บริษัทสตาร์ทอัพ Blue Ocean Technology ได้เล็งเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจและต่อยอดเทคโนโลยี VR ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการใช้งาน VR เพื่อความบันเทิง 

ทีมงาน ADPT ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Blue Ocean Technology ถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนา VR เครื่องมือเพื่อธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เด่นของบริษัท รวมไปถึงบทวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางการเติบโตของ VR สำหรับภาคธุรกิจทั้งในไทยและในต่างประเทศ และคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้องการนำ VR ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนในช่วง COVID-19

Image credit: Blue Ocean Technology

ก้าวแรกของบริษัท Blue Ocean Technology กับ VR for Business

ย้อนกลับไปปี 2016 ส่วนตัวคุณเพิ่มพงศ์เองมีความชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่แล้ว เทคโนโลยี VR เป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ มี commercial launch ช่วงกลางปี 2016 หลังจากที่ได้ลองใช้ เลยเกิดเป็นไอเดียธุรกิจ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีแล้ว มันสามารถกระโดดไปไกลกว่าที่คาดหวังไว้เยอะ เพราะ VR สามารถสร้างสภาพแวดล้อมจำลองอะไรขึ้นมาก็ได้ ตนจึงมองว่านำไปต่อยอดทางด้านธุรกิจได้

“ปัญหาหลักของหลายธุรกิจ คือ ไม่สามารถนำตัวสินค้าจริงมานำเสนอได้
ไม่ว่าจะยังไม่ได้สร้างหรือข้อจำกัดอื่น ๆ”

ในช่วงเวลานั้น VR ยังนำไปใช้งานเพื่อความบันเทิงเสียส่วนใหญ่ แต่มีงานวิจัยเผยว่า VR ที่นำไปใช้เพื่อความบันเทิงนั้นคิดเป็น 55% ส่วนอีก 45% สามารถนำมาตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม การทหาร และอีกมากมาย บวกกับการที่ VR เป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับทั้งนักพัฒนาในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสในการตอบโจทย์ทางธุรกิจ รวมไปถึงโอกาสการแข่งขันไปจนถึงในระดับโลก จึงเป็นที่มาของการพัฒนา VR for Business ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ก้าวก่อนใคร ไปไกลกว่าคนอื่น

ข้อดีคือ บริษัท Blue Ocean Technology เป็น “First Mover” เป็นเจ้าแรก ๆ ที่กระโดดเข้ามาศึกษาเทคโนโลยี VR ทำให้บริษัทได้เจอทั้งโอกาส ข้อจำกัด ปัญหาการพัฒนาในแง่เทคนิคที่ต้องผสมผสานหลายองค์ความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทแก้ปัญหาได้ก่อนคนอื่น ตัวผลิตภัณฑ์จึงค่อนข้างนิ่งพอสมควรในแง่ของทางเทคนิคและแง่ของตลาดด้วย

“เป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก”

แม้ว่าปี 2016 อาจเป็นช่วงเวลาที่เร็วเกินไปในการเข้าสู่ตลาด แต่ก็ทำให้บริษัทเล็ก ๆ อย่างบริษัท Blue Ocean Technology เข้าสู่ตลาดได้ หากพึ่งเริ่มในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีบริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศเข้ามา บริษัทเองก็อาจจะไม่มีที่พอจะแข่งขันในตลาดได้

Image credit: Blue Ocean Technology

ผลิตภัณฑ์ VR โดดเด่น

ด้วยความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ที่ “สามารถขายได้ด้วยตัวของมันเอง” บริษัท Blue Ocean Technology จึงมีกลุ่มลูกค้าองค์กรจากหลากหลายอุตสาหกรรมติดต่อมาเพื่อใช้งาน VR เพื่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทนำเสนอ ได้แก่

  • VR Real Estate ผลิตภัณฑ์แรกที่บริษัทเปิดตัว จับตลาดกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากปัญหาที่ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สามารถนำเสนอโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังสร้างไม่เสร็จแก่ลูกค้า หรือไม่สามารถทำให้ลูกค้าเห็นตัวอย่างสถานที่จริงได้ บริษัทจึงนำเทคโนโลยี VR มาใช้จำลองโครงการที่อยู่อาศัยเสมือนจริง
  • VRSIM (VR Simulation Training) ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดการพัฒนาทักษะผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผสมผสานเทคโนโลยี Embedded software ทำให้สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและสภาพแวดล้อมการฝึกอบรมที่เหมาะสมให้กับผู้ใช้งานในการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะได้
Image credit: Blue Ocean Technology
  • EXfair (Extended Reality Fair) ผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมาในช่วง COVID-19 จากข้อจำกัดของการที่ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่จริงที่จัดอีเวนท์ต่าง ๆ ได้ โดยขยายเทคโนโลยี VR และ 3D Web Application ทำให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง เพิ่มความน่าสนใจและความแตกต่างให้กับงานด้วยความสมจริงที่มากกว่า จนได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จระดับประเทศ
Image credit: Blue Ocean Technology

Use Case ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในหลายอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์ VR เพื่อธุรกิจของ Blue Ocean Technology ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี มีการใช้งานหลากหลายในหลายภาคส่วน เช่น การนำเสนอโครงการบ้านจัดสรร การใช้งานในด้านการอนุรักษ์พลังงาน การฝึกอบรมพนักงานในการใช้เครื่องจักรการเกษตรที่มีข้อจำกัดเรื่องการไปฝึกในพื้นที่จริง เป็นต้น

คุณเพิ่มพงศ์ได้เล่าถึงความร่วมมือกับสถาบันพลังงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการใช้ VR เข้าไปประยุกต์ใช้กับการฝึกอบรมในด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญนำความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานเข้าไปผนวกรวมอยู่ในโลกเสมือนจริง สร้างโรงงานเสมือนจริงทั้งโรงงาน ตั้งแต่ในส่วนออฟฟิศ สายงานการผลิต และ Utility ทำให้ผู้ฝึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในโรงงานจริง และให้พนักงานได้เข้าไปฝึกซ้อม ทดสอบว่าตนมีความรู้ทางด้านการอนุรักษ์พลังงานอยู่ในระดับใด

Image credit: Blue Ocean Technology

ในปี 2020 ช่วงหลังการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกแรก บริษัทได้นำไปเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้งานจริงโดยการทดสอบนำร่องกับโรงงานจริง 10 แห่งทั่วประเทศ ขยายผลการใช้งานใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมทดสอบใช้งานว่า “รู้สึกเหมือนได้เข้าไปใช้งานในพื้นที่จริง และได้ความรู้เพิ่มขึ้น” จนตอนนี้บริษัทมีโรงงานติดต่อเข้ามาผ่านสภาอุตสาหกรรมเพื่อนำเอาไปขยายผลการใช้งานจริงแล้ว

เทคโนโลยี VR แห่งอนาคต:
อุปกรณ์เล็กลง ราคาสบายกระเป๋า ใช้งานได้หลากหลาย

เมื่อสามปีที่แล้ว ฮาร์ดแวร์สำหรับ VR นั้นมีขนาดใหญ่และหนัก เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตฮาร์ดแวร์พยายามทำให้อุปกรณ์เล็กและเบาลง และทำให้ราคาของอุปกรณ์ถูกลงด้วย จากเดิมที่อุปกรณ์ VR อยู่ที่ราคาประมาณ 50,000 บาท ยังไม่รวมชุดคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากรวมเบ็ดเสร็จแล้วจะมีราคาสูงขึ้นไปถึงประมาณ 100,000 บาท ดังนั้น แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก็คือ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ขนาดกะทัดรัดในราคาย่อมเยา

ในแง่ของ Use Case นั้น ตั้งแต่ปี 2016 พบว่ามีการนำเทคโนโลยี VR ไปประยุกต์ใช้งานใน Use Case ที่หลากหลายมากขึ้น ขยายไปในหลาย ๆ อุตสาหกรรม นอกเหนือจากเพื่อความบันเทิง อย่างการใช้งานในด้านการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

Image credit: Blue Ocean Technology

แนวโน้มตลาด VR สำหรับภาคธุรกิจในไทย

หากมองถึงตลาด AR/VR ของโลกในปัจจุบันนี้ การใช้งานเพื่อความบันเทิงยังคงเป็นตลาดใหญ่อยู่ แต่ข้อมูลในปี 2019 นั้น พบว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจ คือ การฝึกอบรม ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ Retail Showcase (การขายปลีก) อยู่ที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์ และ Industrial Maintenance (การบำรุงรักษาในภาคอุตสาหกรรม) อยู่ที่ 0.4 พันล้านดอลลาร์

ข้อมูลจาก Goldman Sachs Global Investment Research มีการคาดการณ์ว่าตลาด Global Simulation Software Market มีขนาดใหญ่ประมาณ 6.26 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าตลาด VR for Training & Industrial Maintenance ในปี 2023 จะมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอยู่ที่ 12.8 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นจากเดิมประมาณ 4 – 8 เท่า ถือว่าตลาด VR ในด้านนี้ยังเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร

Image credit: Goldman Sachs Global Investment Research via Statisca

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีหน่วยงานวิจัยและตัวเลขที่ชัดเจน แต่จากมุมมองของคุณเพิ่มพงศ์แล้ว ทิศทางในไทยก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกันกับในต่างประเทศ โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวของทางบริษัท Blue Ocean Technology แล้ว ผู้ใช้งานเปิดรับการใช้งานมากขึ้นเนื่องด้วยราคาอุปกรณ์ที่ถูกลง ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น คาดว่าน่าจะมีการประยุกต์การใช้งานในประเทศไทยคล้ายกับในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

VR กับการประยุกต์ใช้งานในยุค COVID-19

ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้ ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เกิดการหยุดชะงักหรือมีความล่าช้าในการดำเนินการเนื่องด้วยข้อจำกัดที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แน่นอนว่าเทคโนโลยี VR สามารถเข้ามาตอบโจทย์การประยุกต์ใช้งานให้เหมาะกับสถานการณ์ Social Distancing ได้อยู่แล้ว

ในต่างประเทศนั้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับ Virtual Conference ขึ้นมา จากข้อจำกัดของการประชุมทางออนไลน์ที่ยังขาดอรรถรสในการสนทนากัน แต่ในโลกเสมือนจริงผ่าน VR นั้น จะทำให้ผู้ใช้งานสื่อสารผ่านภาษากายได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความสามารถของ Hand Tracking, เซนเซอร์ที่จับการเคลื่อนไหวของตัวคน, Eye Tracking ที่จับความเคลื่อนไหวของตา ในการสร้าง Avatar ที่เข้าไปคุยกันได้ในโลกเสมือนจริง ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนคุยกันอยู่ตรงหน้า จึงเป็นอีกรูปแบบการใช้งานหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างเร็วในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา

Blue Ocean Technology ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะคล้าย ๆ กันขึ้นมาในช่วง COVID-19 นั่นคือ EXfair ที่มอบประสบการณ์การเข้าร่วมงานอีเวนท์ต่าง ๆ แบบเสมือนจริง เหมาะกับการใช้งานเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล นับว่าเป็นการปรับตัวได้เร็วเข้ากับสถานการณ์เช่นนี้

Image credit: Blue Ocean Technology

แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้การพัฒนาฮาร์ดแวร์ล่าช้าลง แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ก็ทำให้ลูกค้าเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะมองว่า VR เป็นเทคโนโลยีทางเลือก ซึ่งจะทำให้โอกาสของเทคโนโลยี VR เติบโตได้เร็วขึ้นด้วย

ราคากับคู่แข่ง…ความท้าทายที่บริษัทเผชิญ?

ปัญหาใหญ่ที่สุดเมื่อสองสามปีที่แล้ว คือ ต้นทุนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หากลูกค้าต้องการขยายผลนำไปเทคโนโลยี VR ไปใช้กับธุรกิจของตนนั้น นับว่าเป็นต้นทุนที่สูง ทำให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณของโครงการ แต่ในปัจจุบันนี้ ตัวอุปกรณ์ราคาถูกลงมาก สามารถใช้เพียง Standalone VR ซึ่งเป็นอุปกรณ์เบ็ดเสร็จในตัว ราคาอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาท ซึ่งถ้ามีการใช้จำนวนมากเช่น 50-100 ตัว ก็ยังอยู่ในช่วงราคาที่เป็นไปได้

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่คุณเพิ่มพงศ์ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค คือ การมีนักพัฒนาในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เริ่มเข้ามาในพัฒนา AR และ VR Application มากขึ้น เช่น นักพัฒนาเกม ซึ่งคุณเพิ่มพงศ์มองว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะการมีผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดมากขึ้นก็ทำให้เกิด Use Case ที่หลากหลายขึ้น และเป็นการกระตุ้นตลาดภาพรวม ทำให้ผู้ใช้เห็นประโยชน์ของการใช้งานที่หลากหลายขึ้นด้วยเช่นกัน

“โอกาสของธุรกิจ VR บริษัทมองว่าโอกาสยังมีอีกเยอะ เพราะเป็นตลาด Blue Ocean ที่ยังไม่ได้มีการแข่งขันที่ดุเดือดหรือการแข่งขันด้านราคา ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าพึงพอใจนักพัฒนาเจ้าไหนในการเข้าไปร่วมงานกับลูกค้า”

แผนกลยุทธ์รุกตลาดไทย ทิศทาง VR เพื่อธุรกิจในอนาคต

แผนดำเนินการของบริษัท Blue Ocean Technology ในการเจาะกลุ่มตลาด คือ การเข้าถึงการสนับสนุนและความช่วยเหลือของทางภาครัฐในหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับทุนสนับสนุนจาก TED Fund กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ล่าสุด บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ Startup Connect กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ขยายไปยังกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น และบริษัทเองก็พยายามใช้กลยุทธ์นี้ในการเข้าถึงลูกค้าตรง

อีกด้านหนึ่งคือการเข้าไปหาพาร์ทเนอร์ที่มีความเข้มแข็งในการเชื่อมต่อกับลูกค้า เช่น Microsoft ที่บริษัท Blue Ocean Technology เคยเข้าไปร่วมโครงการด้วย

บริษัทเล็งเห็นถึงแนวโน้มว่า ความต้องการของลูกค้าจะมากขึ้น ซึ่งในตอนนี้เองลูกค้าอาจจะพอใจในเรื่องของการสร้างสรรค์ Use Case แปลกใหม่ การฝึกอบรมด้านใหม่ ๆ แต่ในอนาคตลูกค้าน่าจะต้องการประสบการณ์ที่เสมือนจริงมากขึ้น จากความสมจริงธรรมดาสู่ความสมจริงที่ใกล้เคียงกับโลกจริง เช่น Avatar ที่เหมือนตัวเราเองจริง ๆ ปากขยับ ตากะพริบได้ เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าทางผู้พัฒนามีการเตรียมพร้อมในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน

“แนวโน้ม VR เริ่มผสานกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น IoT และเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อให้การรับรู้ในโลกเสมือนจริงสมบูรณ์มากขึ้น และ AI Machine Learning ก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

อยากนำ VR มาใช้กับธุรกิจ ต้องเริ่มอย่างไร?

คุณเพิ่มพงศ์ได้ให้คำแนะนำสำหรับธุรกิจไทยที่อยากนำเทคโนโลยี VR มาประยุกต์ใช้งาน โดยให้พิจารณาถึงต้นทุนเดิมที่มีอยู่ และใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจ 3 เกณฑ์ คือ

  1. ต้นทุนการฝึกอบรม
  2. ความเสมือนจริงในการฝึกอบรม
  3. ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

จากนั้นจึงวิเคราะห์ต้นทุนของการทำฝึกอบรมในรูปแบบเดิมกับประโยชน์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยี VR เข้ามาประยุกต์ใช้ แล้วเปรียบเทียบกัน

จาก Use Case ของ VRSIM นั้น พบว่า ประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อผู้ใช้หรือลูกค้า ได้แก่

  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกอบรมให้ได้ประสบการณ์เสมือนจริงมากที่สุด จากการจำลองสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลาในการฝึกอบรม
  • การลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม
  • การเพิ่มความปลอดภัยป้องกันการเกิดเหตุผิดพลาดหากทำงานกับเครื่องจักรจริง
  • การฝึกที่มีประสิทธิภาพอันส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่ส่งผลต่อต้นทุนและกำไร

หากพิจารณาจากประโยชน์ข้างต้นเทียบกับการฝึกอบรมในรูปแบบเดิม ก็น่าจะช่วยทำให้เห็นภาพมากขึ้น และ VR ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ตอบโจทย์ช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจของคุณเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัท Blue Ocean Technology สามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้

Facebook: @BlueOceanTechnology
Email: [email protected]
โทรศัพท์: 0-2014-7630 / 08-1011-0180