[Guest Post] ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับ กลุ่มไมโครไฟแนนซ์และกลุ่มธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ด้วยการร่วมงานกับ AWS

0

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย (Thai Credit Retail Bank: TCRB) เปิดตัวแพลตฟอร์มธนาคารที่สร้างโดย API แบบเปิดบน AWS ช่วยให้ลูกค้าของธนาคารปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมเป็นระบบดิจิทัล และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ

เมื่อธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ขึ้นเมื่อห้าปีที่แล้ว ในตอนนั้นยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการบริการอย่างเพียงพอทั้งที่มีโอกาสทางธุรกิจมากมาย

ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ ไทยเครดิตได้สร้างรูปแบบธุรกิจขึ้นมาใหม่ ว่าจ้างทีมงานใหม่ และสร้างสาขาขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นลูกค้าได้มากที่สุด กลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลดีเนื่องจากลูกค้าของไทยเครดิตส่วนใหญ่เป็นร้านค้าหรือธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งส่วนมากจะรวมกลุ่มอยู่ในตลาดสดนั่นเอง 

สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าที่ชอบใช้เงินสดและรูปแบบธุรกิจใหม่ของธนาคาร ทำให้เกิดขั้นตอนการทำงานมากมายในขณะนั้นที่ยังไม่เป็นดิจิทัล ในเวลานั้นไทยเครดิตจึงมีความฝันที่จะทำให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางดิจิทัล จากเดิมที่ใช้แต่เงินสดอย่างเดียวถึง 99% ซึ่งหมายถึงไม่มีการใช้เครื่องรูดบัตรเนื่องจากไม่มีการเข้าถึงบริการโมบายล์แบงกิ้งแต่อย่างใด

เมื่อเริ่มโครงการ ‘สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์’ ไทยเครดิตใช้โปรแกรมแอปพลิเคชันที่ใช้กันภายในเพียงไม่กี่โปรแกรม รวมถึงแอปพลิเคชันสำหรับรวบรวมข้อมูลลูกค้าที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งหลังจากผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาด แต่ยังมีปัญหาว่าระบบไม่สามารถรองรับการเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพของระบบ โดยเฉพาะในช่วงการรายงานผลสิ้นเดือนที่ธนาคารพยายามปิดการขอสินเชื่อให้ได้มากที่สุด

เห็นได้ชัดว่าไทยเครดิตเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงได้รับการพัฒนาและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ความคาดหวังทางธุรกิจของไทยเครดิตไม่ได้ซับซ้อนแต่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนระบบและไม่ปล่อยให้มันล้าสมัยเพราะข้อจำกัดต่าง ๆ ดังนั้น ทีมเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารจึงได้คิดค้นแนวทาง ‘Wrap and Digitize’ ขึ้น ซึ่งได้ผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แนวทางนี้ช่วยให้ธนาคารสร้างแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นและปรับขนาดได้ ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยระดับธนาคาร (Bank-grade Security) ไทยเครดิตใช้บริการด้านคลาวด์หลายตัว ได้แก่  Amazon Relational Database Service (Amazon RDS), Amazon CloudWatch และ AWS Lambda ร่วมกับ สถาปัตยกรรม Micro Service เพื่อขับเคลื่อนบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและระบบสนับสนุน ด้วยเทคโนโลยีแบบ Serverless ของ AWS ช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาโซลูชันที่มีความยืดหยุ่นสูง ตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่ “ไม่เหมือนใคร” แต่มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการดำเนินการต่ำ

คุณคริสโตเฟอร์ ชาน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย (Mr Christopher Chan, Assistant Managing Director for Information Technology, TCRB) กล่าวว่า “เมื่อดูแพลตฟอร์มที่เราใช้ก่อนหน้านี้ เรามีระบบงานธุรกิจธนาคารที่มีการเชื่อมต่อ API แบบเก่า ที่ไม่ได้รับการจัดระเบียบอย่างดีและเว็บแอปพลิเคชันของเราต้องการการปรับปรุงและทำให้ทันสมัย

“เราตระหนักดีว่าสิ่งนี้คือช่องว่างสำคัญที่เราต้องเติมเต็ม โดยหลังจากพิจารณาด้านการลงทุนและความซับซ้อนแล้ว ในที่สุดเราก็เลือกใช้กลยุทธ์ ‘Wrap and Digitize’ ซึ่งหมายความว่าเราจะรวมฟังก์ชันการทำงานใหม่ ๆ ไว้กับเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่เราพัฒนาระบบเพื่อให้แน่ใจว่านอกเหนือจากฟังก์ชันกลางและหลังบ้านแล้ว ระบบสามารถรองรับผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้ จากนั้นแสดงผลผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้กับลูกค้าและคู่ค้า พร้อมสร้างแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อแบบเปิด”

เพื่อขับเคลื่อนด้านดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ ธนาคารจำเป็นต้องปรับองค์กรและกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ โดยแบ่งองค์กรออกเป็น 2 กลุ่มที่แตกต่างกันเพื่อเพิ่มจุดแข็งให้มากที่สุด

คุณชานกล่าวเสริมว่า “ทีมที่ดูแลแพลตฟอร์มเดิมจะทำงานใน ‘Marathon Mode’ ซึ่งพวกเขาวางแผนจัดการการพัฒนาในรอบที่ยาวขึ้น แต่มั่นใจได้ว่าระบบจะมีความทนทาน มีเสถียรภาพ และเชื่อถือได้ ในขณะที่ทีมที่ดูแลช่องทางส่วนหน้าทำงานใน ‘Sprint Mode’ ซึ่งใช้การพัฒนาที่คล่องตัวในรูปแบบ DevOps ลดวงจรการพัฒนาและการเรียนรู้ให้สั้นลง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าประทับใจแก่ลูกค้า”

ไทยเครดิตเปิดตัวแอปพลิเคชัน ไมโครเพย์ อีวอลเล็ท (Micro Pay e-Wallet) ครั้งแรกตอนที่ประเทศไทยประกาศใช้พร้อมเพย์เป็นการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการเริ่มการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งตอนนั้นไทยเครดิตยังไม่ได้ทดสอบตลาดและไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะสามารถปรับตัวมาใช้บริการได้อย่างไร เนื่องจากลูกค้าในขณะนั้นยังไม่มีความถนัดด้านดิจิทัลเท่าไหร่นัก และวัฒนธรรมการใช้เงินสดก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และถือเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

คุณรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย (Mr Roy Agustinus Gunara, Managing Director, TCRB) กล่าวว่า “ในช่วง COVID-19 ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และเรามีลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 รายต่อเดือน พร้อมด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอน KYC (Know Your Customer) ที่สมบูรณ์ ทำให้เราเริ่มเปลี่ยนลูกค้าของเราเข้าสู่บริการดิจิทัล

“แนวคิด Wrap and Digitize เป็นพื้นฐานของแพลตฟอร์มธนาคารแบบเปิดของเรา ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ไมโครเพย์ อีวอลเล็ท (Micro Pay e-Wallet) กับบัญชีสินเชื่อหมุนเวียนของธนาคารได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้ในปัจจุบันลูกค้าไมโครเพย์ของเราทั้งหมดสามารถเข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนได้จากแอปพลิเคชันเดียวกัน และจัดการยอดเงินผ่านช่องทางออนไลน์”

ขณะนี้ ไทยเครดิตกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันโมบายล์แบงกิ้งบนสถาปัตยกรรม Micro Services ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในปี 2564 นอกจากนี้ ยังขยายแพลตฟอร์มธนาคารแบบเปิดด้วยการเพิ่มสถาปัตยกรรม Micro Services ให้มากขึ้น เพื่อรองรับความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในช่องทางดิจิทัลผ่าน API ได้

ที่สุดแล้วไทยเครดิตได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อลูกค้าอย่างเกินความคาดหมาย ลูกค้าเริ่มหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นทุกวัน ลูกค้าปัจจุบันของไทยเครดิตเกินครึ่งหนึ่งใช้แอปพลิเคชัน ไมโครเพย์ อีวอลเล็ท ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อออนไลน์ จัดการยอดเงิน ชำระเงิน และถอนเงินได้ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จาก AWS Cloud ทำให้ไทยเครดิตช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ในขณะที่เปลี่ยนแปลงลูกค้าสู่ดิจิทัลได้เช่นกัน

เมื่อไทยเครดิตเปิดให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พบว่าลูกค้า 60% กู้ยืมเงินจากผู้ปล่อยกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินและหนี้สินให้กับชีวิตที่มีความยากลำบากอยู่แล้ว ลูกค้าของไทยเครดิตใช้เงินกู้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่และชำระเงินกู้อื่น ๆ หลายคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือปู่ย่าตายายที่ต้องทำงานทุกวันเพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิต ซึ่งพวกเขาจ่ายเงินกู้มานานกว่า 10 ปี โดยที่เงินต้นไม่ลดลงเลยเนื่องจากดอกเบี้ยที่สูง

คุณนิราจา โกคาเล่ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการในอุตสาหกรรมการเงิน ภูมิภาคเอเชีย เอดับบลิวเอส (Niraja Gokhale, Industry Specialist Financial Services, Asia, AWS) เล่าถึงประสบการณ์ที่เติบโตในอินเดียว่า “ฉันโชคดีที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของธนาคารสหกรณ์ขนาดเล็ก และไมโครไฟแนนซ์อย่างใกล้ชิด พ่อของฉันเป็นนักลงทุนรุ่นแรก ๆ ในธนาคารขนาดเล็ก ที่ก่อตั้งโดยเพื่อนสนิทและญาติ ๆ ในยุค 1970 ในอีก 20 ปีต่อมา ธนาคารเติบโตจากลูกค้า 1,000 คน เป็นมากกว่า 200,000 คน และจากสาขาเดียวเป็น 23 สาขา และมีเงินฝาก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ทุก ๆ ปี มีการเปิดสาขาใหม่ในย่านชานเมืองหรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ในช่วงที่มีพิธีเปิด ฉันได้เห็นการกู้ยืมของผู้ประกอบการหญิงหรือเกษตรกรที่มีโอกาสในการปลดปล่อยตัวเองจากเจ้าหนี้นอกระบบอย่างภาคภูมิใจ ทำให้ฉันรู้สึกซาบซึ้งว่าการเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ตามที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ให้ข้อมูลว่าการตอบสนองความต้องการทางการเงินของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและ SME สามารถเพิ่ม GDP ให้เศรษฐกิจในอาเซียนได้ร้อยละ 9-14 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Midsize Businesses: SMB) สหกรณ์เครดิตยูเนียน และ MFI ในภูมิภาคอาเซียน” คุณโกคาเล่ กล่าวเสริม

ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สหกรณ์เครดิตยูเนียน และไมโครไฟแนนซ์ สามารถใช้งานระบบคลาวด์ของ AWS เพื่อสร้างประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในอาเซียน โดยเริ่มจากจุดที่มีความสำคัญต่อธุรกิจมากที่สุด กำหนดกลยุทธ์การนำไปใช้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ลงมือทำอย่างรวดเร็วและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับงาน คุณโกคาเล่เสริมว่าทรัพยากรของ AWS Training and Certification มีประโยชน์และสะดวกในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างผู้ประกอบการที่ทดลองใช้แหล่งข้อมูลออนไลน์ใหม่ ๆ หรือผู้บริหารที่ต้องการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะพนักงานในบริษัท โดยใช้ AWS