เคยเป็นไหมคะ เวลาไปเจอคำ ๆ หนึ่ง แล้วเราไม่แน่ใจว่าคำ ๆ นั้นออกเสียงอย่างไร (หรือบางทีเราก็มั่นใจไปเองว่าเราอ่านออกเสียงถูก)
เหตุการณ์แบบนั้นก็เกิดกับแอดมินเหมือนกันค่ะ พอดีว่าแอดมินไปอ่านเจอข่าวหนึ่งที่มีชื่อยี่ห้อรถแบรนด์ดังเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทย แล้วเกิดข้อสงสัยว่า เขาออกเสียงแบบนั้นหรอ? นี่เราอ่านผิดมาตลอดเลยหรอ? แล้วแบบนี้เราจะไปถามใครได้ล่ะคะนอกจาก Google (ฮา)
แอดมินเลยไปพิมพ์ค้นหาใน Google ก็พบกับคำตอบค่ะ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่คำตอบว่าคำนั้นออกเสียงอย่างไร แต่เป็นการค้นพบฟีเจอร์ใหม่ของ Google ด้วย (ที่มีมาตั้งแต่ปี 2019 นี่แอดมินไปอยู่ที่ไหนมา -_-) เลยอยากขอแชร์ให้คุณผู้อ่านได้ลองเข้าไปเล่นกันค่ะ
เริ่มต้นด้วยการพิมพ์ค้นหาใน Google Search ว่า “how to pronounce (ใส่คำที่ต้องการรู้คำอ่าน)”
ยกตัวอย่างเช่น อยากรู้ว่าคำว่า “genre” อ่านว่าอย่างไร? อ่านว่า “เจน” หรือ “เจน-เร่” รึเปล่านะ? ก็พิมพ์ค้นหาลงไปได้เลยค่ะว่า “how to pronounce genre”
หลังจากนั้น Google ก็พาเรามาหน้านี้ค่ะ แต่หน้าตาแปลกจากที่เราเคยเห็นเวลาหาความหมายเฉย ๆ ค่ะ เพราะมีแค่คำอ่านภาษาอังกฤษกับรูปปากเท่านั้น หน้าตาดูเรียบง่ายสะอาดตามาก ๆ ค่ะ ถ้าค้นหาบนมือถือหรือแท็บเล็ตก็ให้ผลลัพธ์เดียวกันค่ะ
ด้วยความสงสัยใคร่รู้จึงลองกดจิ้มปากดู แล้วค้นพบความมหัศจรรย์มากที่มีรูปปากขยับตามเสียงด้วย ซึ่งเราสามารถเลือก Slow เพื่อให้ออกเสียงช้าลงและฟังแบบแยกพยางค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
แล้วเรายังสามารถเลือกสำเนียงแบบอังกฤษ (British pronunciation) หรืออเมริกัน (American pronunciation) ก็ได้ค่ะ ซึ่งถ้าเลือกเป็น American pronunciation จะมีฟีเจอร์พิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ Practice ที่เราสามารถกดอัดเสียงแล้วอ่านคำนั้นให้ Google ฟังว่าเราอ่านถูกรึเปล่าด้วยค่ะ
พอออกเสียงเสร็จแล้ว Google จะส่ง Feedback แบบเรียลไทม์มาให้เราด้านล่างด้วยว่าต้องแก้ไขการออกเสียงอย่างไร ซึ่งแอดมินพยายามหลายรอบแล้วก็ยังอ่านไม่ถูกเสียทีค่ะ (ฮา) อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ไมค์รับเสียงไม่ชัดเจนดีหรือแอดมินพูดไม่ถูกเอง ถ้าใครอ่านถูกใจ Google ได้นี่ต้องขอยกนิ้วให้เลยค่ะ (เข้าใจว่าระบบยังเป็น beta อยู่ค่ะ เลยยังต้องพัฒนาปรับปรุงเรื่องความแม่นยำอีก)
และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองกับเครื่องมือที่ใช้งานง่ายอย่าง Google Search ที่นำเทคโนโลยี Machine learning (ระบบเรียนรู้) และ Speech recognition มาประยุกต์ใช้เพื่อการฝึกภาษาอังกฤษค่ะ คุณผู้อ่านลองเล่นกันดูนะคะ แล้วเราจะได้รู้ว่า คำที่เราคิดว่าอ่านถูกอยู่แล้วนั้น มันใช่อย่างที่เราคิดเองหรือเปล่า
ลองชมคลิปวิดีโอเดโมกับคำเฉพาะอื่น ๆ เช่น Gigabyte (อ่านว่า “กิ๊กกะไบต์” หรือ “จิ๊กกะไบต์”?), Netflix (“เหน็ด-ฟลิก” หรือ “เน้ด-ฝลิก”?) หรือแม้แต่ชื่อคนอย่าง Mark Zuckerberg ค่ะ ขอให้สนุกกับการเรียนรู้การออกเสียงภาษาอังกฤษนะคะ
หมายเหตุ: ถ้าใส่คำค้นหาเป็นภาษาไทย เช่น “genre ออกเสียง” จะไม่ขึ้นฟีเจอร์แบบที่กล่าวไว้ในบทความนะคะ